การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อวัยวะถูกตัดขาด
- ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซจำนวนมากปิดบาดแผลและกดให้แน่น โดยเฉพาะบริเวณแขนหรือขาซึ่งมีโอกาสเสียเลือดได้เลือดมาก
- ตรวจสอบว่ามีชิ้นส่วนของอวัยวะที่ถูกตัดขาดออกจากตัวผู้ป่วยหรือไม่ เช่น นิ้วขาด แขนขาด มือขาด ขาขาด หากมีให้นำอวัยวะนั้นใส่ถูกพลาสติกสะอาด รัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปใส่ในน้ำที่มีน้ำแข็งอยู่ด้วย เพื่อควบคุมให้อุณหภูมิไม่เย็นจนเกินไป (อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 4 องศาเซลเซียส) ที่สำคัญห้ามนำอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง เพราะจะทำให้เซลล์ตาย ในกรณีที่อวัยวะที่ถูกตัดขาดมีขนาดใหญ่ เช่น มือ แขน หรือขา หากเก็บรักษาอย่างถูกวิธี อวัยวะนั้นอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 6 ชั่วโมง และในกรณีนิ้วขาด เนื้อเยื่อจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้ถึง 12 ชั่วโมง ส่วนกรณีที่ยังมีเนื้อเยื่อติดอยู่กับตัวผู้ป่วย ให้ทำการห้ามเลือดและประคองส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้มั่นคงไม่ให้ถูกดึงรั้งไปมา
- เมื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบทำการติดต่อไปยังโรงพยาบาลว่า มีแพทย์ที่พร้อมจะทำการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อลดเวลาที่อาจจะเสียไปจากการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
เมื่อถึงโรงพยาบาล
จุลศัลยแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อเชื่อมหลอดเลือดและเส้นประสาทจะเป็นผู้ทำการผ่าตัดต่อเชื่อมอวัยวะที่ถูกตัดขาดตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- แพทย์จะประเมินผู้ป่วยว่ามีการบาดเจ็บในบริเวณใดที่จะต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อทำการรักษาชีวิตของผู้ป่วยก่อน เช่น สมอง ช่องท้อง ทรวงอก แล้วจึงทำการรักษาการบาดเจ็บของอวัยวะที่ถูกตัดขาด พร้อมกับประเมินว่าผู้ป่วยสามารถทนการผ่าตัดที่ใช้เวลานานได้หรือไม่ ทั้งนี้ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลานานได้สูงกว่าคนทั่วไป
- แพทย์จะประเมินสภาพอวัยวะที่ถูกตัดขาดว่ามีความเหมาะสมแก่การทำผ่าตัดต่อเชื่อมอวัยวะกลับคืนหรือไม่ อวัยวะที่แหลกเหลวจากการถูกบดขยี้โดยเครื่องบดเนื้อ เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องรีด หรือเครื่องปั่นมักไม่สามารถทำการต่ออวัยวะกลับคืนได้ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อหลายส่วนถูกทำลายไปอย่างมาก ส่วนของอวัยวะที่มีกล้ามเนื้ออยู่มาก เช่น แขน ขา หรือมือ หากทิ้งไว้นานเกิน 6-8 ชั่วโมงแล้ว โอกาสที่จะเกิดการตายของกล้ามเนื้อได้สูง เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่ไม่ทนทานต่อการขาดเลือด ที่สำคัญกล้ามเนื้อที่ตายจะสลายตัวเกิดเป็นเสียจำนวนมาก และหากแพทย์ทำการต่อหลอดเลือดของอวัยวะที่ขาดเข้ากับตัวผู้ป่วย จะทำให้ของเสียนั้นไหลทะลักเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมากจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก อาทิเช่น ไตวายเฉียบพลัน และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ อวัยวะที่ถูกตัดขาดเป็นเวลานาน มีโอกาสเกิดการติดเชื้อรุนแรงตามมาสูงได้เช่นกัน
- แพทย์จะวางแผนและทำการผ่าตัด หลังจากมีความเห็นว่าควรทำการผ่าตัดต่อเชื่อมอวัยวะที่ถูกตัดขาดออกจากกันดังขั้นตอนต่อไปนี้
-
- ใช้โลหะยึดตรึงกระดูกเข้าด้วยกัน
- เย็บซ่อมหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง เส้นประสาท ด้วยเทคนิคทางจุลศัลยกรรม โดยใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เส้นด้ายที่มีขนาดเล็กมาก และเครื่องมือผ่าตัดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการผ่าตัดที่มีความละเอียดอ่อนโดยเฉพาะ เพื่อทำให้เลือดไหลไปยังอวัยวะที่ถูกตัดขาดได้
- หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าอวัยวะส่วนที่ถูกต่อกลับนั้นมีความปลอดภัยดีแล้ว
ผลการผ่าตัดต่ออวัยวะ
ผลการผ่าตัดต่ออวัยวะที่ถูกตัดขาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบางประการอาจอยู่เหนือการควบคุมของแพทย์ ทั้งนี้แพทย์ย่อมต้องการให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ความชอกช้ำของเนื้อเยื่อ ความสกปรก การติดเชื้อ เช่น อวัยวะที่ถูกตัดขาดตกลงไปในน้ำที่เน่าเสีย ปนเปื้อนดิน หรือขยะมูลฝอย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการอุดตันของหลอดเลือดหลังการผ่าตัด
- ประสบการณ์ของทีมแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด
- ความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
- การวางแผนการรักษาที่ต่อเนื่องและเหมาะสม
หลังจากกระดูกของอวัยวะที่ได้รับการต่อสมานตัวกันดีแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัด และในบางครั้งจำเป็นจะต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด อาทิ
- การผ่าตัดแก้ไขการติดยึดของเส้นเอ็น ข้อ หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นเอ็น
- การผ่าตัดเพื่อเร่งการสมานตัวของกระดูกในกรณีที่กระดูกมีการสมานตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- การผ่าตัดถอดเอาโลหะดามกระดูกออก เพื่อเริ่มการทำกายภาพบำบัด
สรุป
ในการผ่าตัดต่ออวัยวะนั้น บางครั้งดูเพียงผิวเผินเหมือนกับว่า เป็นการเย็บแผลที่ผิวหนังบริเวณรอยต่อของอวัยวะที่ขาดจากกันให้มาติดกันเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วในส่วนที่ลึกลงไปใต้แผลที่ผิวหนังนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีเทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมากมาย ที่ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการต่ออวัยวะหรือจุลศัลยแพทย์ (Micro Surgeon) รวมถึงความร่วมมือของผู้ป่วยเองในการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์
ศ.นพ. ภานุพันธ์ ทรงเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ทางมือ จุลศัลยกรรม
และประสาท (Hand, Brachial Plexus, Microsurgery)
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2
นพ. อรรคพัฐ โกสิยตระกูล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2
นพ. ชัยโรจน์ เอื้อไพโรจน์กิจ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2