ปัญหาน้ำหนักลดในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากปัญหาหนึ่ง ที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ และบางครั้งผู้ป่วยมักจะเล่าถึงอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งมักเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบกับในภาวะปกติผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทาง สรีรวิทยา ที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้บ้างอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวผู้ป่วยเองหรือแพทย์โดยทั่วไปมองข้ามปัญหานี้ไปได้ง่าย ในขณะเดียวกันก็มีสาเหตุทางการแพทย์อยู่มากมาย ที่อาจจะเป็นสาเหตุของอาการน้ำหนักลดได้ ซึ่งเมื่อได้รับการแก้ไขก็สามารถแก้ปัญหาน้ำหนักลดในผู้สูงอายุได้
โดยปกติผู้ชายทุกคนจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงอายุ 40-50 ปี ขณะที่ผู้หญิงจะมีน้ำหนักตัวขึ้นสูงสุดระหว่างอายุ 50-60 ปี หลังจากนั้นผู้ชายจะสูญเสียเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนที่ไม่ใช่ไขมันไปรวดเร็วกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นชายมีน้ำหนักลดได้เร็วกว่าผู้สูงอายุที่เป็นจริง ทั้งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อของแขนขาจะลดปริมาณลง ขณะที่ไขมันในบริเวณลำตัวจะเพิ่มมากขึ้น ไขมันที่บริเวณใบหน้าจะลดจำนวนลง ทำให้ใบหน้าของผู้สูงอายุจะแลดูแก้มตอบ และด้านข้างของศรีษะบริเวณขมับลีบเล็กลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นธรรมชาติของความชรา ซึ่งอาจทำให้มีคนทักว่าผอมลงทั้งที่ความจริงไม่มีน้ำหนักลดเลย และไม่ถือว่าผิดปกติ
จะทราบได้อย่างไรว่า ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักลดนั้นเป็นสิ่งผิดปกติหรือเกิดจากความชราเอง ? โดยทั่วไปถือกันว่า ถ้าน้ำหนักลดลงจากเดิม 5% ภายในเวลา 6-12 เดือน ถือว่าอาจมีสาเหตุทางการแพทย์อย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่จากความชราแล้ว เช่น ผู้สูงอายุชายที่เดิมน้ำหนัก 70 กก . แล้วน้ำหนักลดลงเหลือประมาณ 66 กก . ภายในช่วงเวลา 6-12 เดือน ควรที่จะสนใจมองหาสาเหตุและปรึกษาแพทย์ต่อไป
สาเหตุทางการแพทย์ของอาการน้ำหนักลดในผู้สูงอายุ มีดังนี้
ระบบฟันและเหงือกผิดปกติ
ปกติผู้สูงอายุจะมีการสูญเสียต่อมรับรสอาหารที่อยู่บนลิ้นไปเนื่องจากความชรา และเมื่อผู้สูงอายุต้องใช้หรือเปลี่ยนฟันปลอมใหม่ อาจทำให้ฟันปลอมเหล่านั้นไปบดบังต่อมรับรสอาหารที่มีเหลืออยู่บ้าง และทำให้ผู้สูงอายุไม่ค่อยรับรู้รสอาหาร นำมาสู่การเบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้ นอกจากนั้นโรคเหงือกยังมีผลต่อต่อมรับรสอาหารและทำให้การเคี้ยวอาหารเจ็บปวดได้ ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง เมื่อผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรที่จะปรึกษาทันตแพทย์เพื่อแก้ไขต่อไป
การกลืนลำบาก อาจแบ่งได้เป็น 2 อย่าง
• ผู้ป่วยที่มีความลำบากที่จะเริ่มกลืนหรือไอ หรือจาม หรือมีการสำลักอาหารและน้ำขึ้นในจมูกขณะที่กลืน ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อที่บริเวณหลอดอาหาร หรือมีการอุดตันที่บริเวณช่องปากด้านหลัง ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง และมีน้ำหนักลดได้
• ผู้ป่วยที่กลืนอาหารแล้วรู้สึกอาหารติดอยู่ในหน้าอก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพอกลืนน้ำหรืออาหารเหลวๆ ได้ง่าย ขณะที่จะกลืนอาหารแข็งได้ลำบาก สาเหตุอาจมาจากความผิดปกติที่หลอดอาหารเองเช่น มีเนื้องอกของหลอดอาหารหรือหลอดอาหารตีบตัน หรือมีอะไรมากดทับหลอดอาหารจากทางด้านนอก เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกที่โตขึ้นหรือหลอดเลือดแดงที่โตมากดทับ ผู้สูงอายุที่มีอาการใดอาการหนึ่งใน 2 ลักษณะดังกล่าว ควรจะรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
อาการท้องร่วงเรื้อรัง
ผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการท้องร่วงมานานเรื้อรังโดยเฉพาะหลังอาหาร แต่สุขภาพโดยทั่วไปค่อนข้างดี ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารชนิดที่มีกากอาหารมากเกิดไป โดยกากอาหารที่มีอยู่ในลำไส้จะไม่ถูกย่อย กลับจะดูดน้ำเข้ามาไว้ กระตุ้นให้อาการถ่ายเหลวหลังอาหารได้ จึงทำให้ผู้สูงอายุประเภทนี้พยายามทานอาหารลดน้อยลง เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องท้องเสีย และนำมาสู่อาการน้ำหนักลดได้ วิธีแก้ไขคือ ผู้สูงอายุที่มีอาการดังกล่าวควรที่จะอาหารชนิดที่มีกากมากลงบ้าง เช่น พวกผัก ผลไม้ โดยให้ปริมาณแต่ละมื้อลดลงด้วย แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยให้ได้ปริมาณอาหารทั้งหมดเท่าเดิม
โรคประจำตัวของผู้สูงอายุเอง
โรคเรื้อรังบางชนิดที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหัวใจวาย นอกจากจะทำให้ความอยากอาหารลดลงแล้ว ร่างกายยังมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อสนองตอบการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากโรคเรื้อรังดังกล่าว แต่ถ้าโรคเรื้อรังที่ผู้สูงอายุนั้นๆ เป็นอยู่ไม่รุนแรง ก็อาจมีน้ำหนักลดจากสาเหตุอื่นที่ซ่อนเร้นอยู่ก็ได้เช่น มะเร็ง , ภาวะจิตซึมเศร้า เป็นต้น โดยพบว่ามะเร็งเป็นสาเหตุของน้ำหนักลดในผู้สูงอายุได้ราว 20%
ภาวะซึมเศร้า
ผู้สูงอายุโดยทั่วไปอาจมีอาการซึมเศร้าได้บ่อย ซึ่งมักจะไม่ทราบตนเอง แล้วแสดงออกด้วยอาการทางกายต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุไปพบแพทย์ด้วยอาการทางกายที่มีสาเหตุมาจากของจิตใจได้ เช่น อาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อม
ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมมีความจำหลงลืม ที่มีน้ำหนักลดด้วย มักไม่ทราบตนเองว่ากำลังผอมลง เพราะเนื่องจากความสามารถในการดูแลรักษาตนเองลดลงจากโรคทางสมอง ทำให้ประสาทการได้กลิ่นลดลง อาการหิวเมื่อท้องว่าง หรือความอยากอาหารก็หายไป การรับประทานด้วยตนเองก็อาจทำไม่ได้ จึงทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้น้ำหนักลดลงได้มาก ญาติผู้ดูแลจึงสมควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางให้การบำบัดรักษา รวมทั้งวิธีในการให้อาหารผู้ป่วย
ผลข้างเคียงของยา
มียาอยู่หลายประเภทที่เมื่อผู้สูงอายุรับประทานแล้ว จะรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้โดยไม่รู้ตัวเช่น ยาขับปัสสาวะ ยาระงับอาการซึมเศร้าในกลุ่ม Tricyclic ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการปากแห้ง จะทำให้การรับรสและการกลืนเสียไป ยาแก้ปวดข้อในกลุ่ม Nonsteroidal ยาแก้หอบหืดพวก Theophylline ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการท้องอืด , คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ยาโรคหัวใจชนิด Digoxin และ ACE inhibitor จะรบกวนการได้กลิ่นและการรับรส ก็ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้เช่นกัน
จากสาเหตุทางการแพทย์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พอจะเป็นแนวทางให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุทราบและสังเกตตัวเองหรือผู้สูงอายุที่ท่านดูแลอยู่ว่า อาการน้ำหนักลด น่าจะมีสาเหตุใด เพื่อหาวิธีแก้ไขป้องกันตนเอง หรือปรึกษาแพทย์ ขึ้นกับความรุนแรงของผู้สูงอายุแต่ละรายไป แต่บางครั้งแพทย์อาจยังให้การวินิจฉัยสาเหตุไม่ได้ในระยะแรก ก็คงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งจะมีผู้ป่วยราว 1 ใน 4 ที่มีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อีก 10% มีน้ำหนักลดจากสาเหตุทางด้านจิตใจ
ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://happyaged.wordpress.com