นัดพบแพทย์

น้ำในโพรงสมองมากเกินไป สาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อม

23 Aug 2016 เปิดอ่าน 1989

สาเหตุและอาการ

โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากน้ำในโพรงสมองเพิ่มขึ้น โดยปกติโพรงสมองจะมีน้ำหล่อเลี้ยงสมองอยู่หากมีปริมาณของน้ำในโพรงสมองที่มากเกินไป จะทำให้เกิดการขยายขึ้นของโพรงน้ำ ไปกดเบียดเนื้อสมองบริเวณรอบ ๆ ทำให้สมองทำงานผิดปกติได้ จริง ๆ แล้วภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่จะพบมากในผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากน้ำในโพรงสมองเพิ่มขึ้นจะมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ๆ อยู่ 4 ประการ ได้แก่

- การเดินที่ผิดปกติ เป็นอาการแรกที่ปรากฏขึ้นมาก่อน
- เดินก้าวขาลำบากคล้ายเท้าถูกดูดติดกับพื้น เดินซอยเท้า ถี่ ๆ
- ปัสสาวะราดบ่อย ๆ เพราะเข้าห้องน้ำไม่ทัน
- หลงลืมง่าย คิดช้า

แต่การที่ผู้ป่วยมีอาการกลั้นปัสสาวะลำบาก (Urinary Incontinence) เช่นผู้ป่วยต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดเบา แสดงว่าโรคนี้เป็นระยะหนึ่งแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องความจำเสื่อม ยิ่งในระยะท้าย ๆ ของโรคปัญหาเรื่องปัสสาวะจะเป็นมากจนปัสสาวะราดโดยไม่ทันรู้ตัว แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวล โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แพทย์จะตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนก่อนและวางแผนรักษา

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคอาศัยภาพถ่ายสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นเครื่องช่วยยืนยันให้เห็นว่าโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่กว่าปกติจริง ๆ และมีการกดเบียดตำแหน่งของเนื้อสมองด้านหน้าและด้านใน ทำให้มีอาการเดินลำบาก กลั้นปัสสาวะลำบากและความจำแย่ลง ขั้นต่อมาแพทย์จะทำการทดสอบโดยการเจาะระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองทางหลัง เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นหรือไม่ ในส่วนของการเดิน หากผู้ป่วยเดินได้คล่องขึ้น จะได้แนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดวางท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้อง การผ่าตัดจะช่วยชะลออาการได้ เพราะถ้าปล่อยไว้อันเกิดภาวะน้ำท่วมสมอง ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่รุนแรงขึ้นจนอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความจำแย่ลงอย่างมาก

การรักษา

การรักษาด้วยการผ่าตัดวางท่อระบายนั้นจะทำโดยแพทย์ด้านศัลยกรรมทางสมอง โดยท่อระบายน้ำที่จะฝังอยู่ในร่างกายมีอยู่ 2 ประเภทคือ ชนิดที่ปรับแรงดันไม่ได้ และชนิดที่ปรับแรงดันได้ ท่อชนิดที่ปรับแรงดันได้ มีข้อดีคือ ถ้าการระบายน้ำมากกว่าเกินไปหรือน้อยเกินไป แพทย์สามารถที่จะปรับเปลี่ยนการระบายน้ำได้โดยใช้อุปกรณ์แม่เหล็กไร้สายจากภายนอกร่างกาย และไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนท่ออันใหม่ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาประเมินความคืบหน้าของอาการเป็นระยะ ๆ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนการระบายน้ำตามความจำเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อชนิดปรับแรงดันได้ ผู้ป่วยมักจะนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้น และแพทย์จะนัดมาทำการตัดไหมในภายหลัง

หลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยปัญหาเรื่องการเดินที่ผิดปกติจะดีขึ้นชัดเจนที่สุด ส่วนเรื่องหลง ๆ ลืม ๆ อาจจะเห็นผลไม่ชัดเจนนัก ระวังการล้มและอุบัติเหตุต่าง ๆ ฝึกการปัสสาวะให้เป็นเวลา การฝึกสมองเพื่อเป็นการป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของสมอง กินอาหารที่มีประโยชน์และต้องครบ 5 หมู่ด้วย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน พบแพทย์ตามนัด เพราะต้องหมั่นดูแลท่อที่ฝังเอาไว้เสมอ โรคนี้ไม่ได้หายขาดแต่เราสามารถชะลออาการได้ ดูแลสุขภาพให้ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร น้ำ อากาศ การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ ถ้าเห็นคนสูงอายุเดินไม่คล่อง ความจำไม่ดี อย่าคิดว่าเป็นธรรมดาโรคคนแก่ ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไร ควรพามาพบแพทย์ เพื่อจะได้ตรวจหาสาเหตุโดยแน่ชัดและแก้ไขได้ทันท่วงที

 

นพ.ปิติ เนตยารักษ์ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1397726485