นัดพบแพทย์

ปวดคอ ปวดหลัง นวดอย่างไรจึงไม่อันตราย และปวดแบบไหนควรรีบแพทย์

17 Mar 2025 เปิดอ่าน 54

อาการ ‘ปวดคอ’ หรือ ‘ปวดหลัง’ มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อคอหรือหลังที่มากเกินไป เช่น การเกร็งคอและหลังจากการนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ อย่างการนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ การก้มมองจอโทรศัพท์มือถือ การนั่งไขว่ห้าง รวมถึงการยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่การนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนคว่ำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดคอหรือปวดหลังจากสาเหตุเหล่านี้มักไม่รุนแรงและหายเองได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

 

แก้อาการปวดคอด้วยการปรับพฤติกรรม

อาการ ‘ปวดคอ’ ที่เกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ สามารถดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและการดูแลตนเองเบื้องต้น โดยเริ่มจากการจัดท่านั่งให้ถูกต้อง ด้วยการนั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ และจัดหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาเพื่อลดการก้มหรือเงยคอมากเกินไป ไม่นั่งก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือนานๆ เพื่อลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังควรบริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และไม่ลืมการยืดเหยียดเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวจากการใช้งานนานๆ หากมีอาการปวดสามารถใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือแผ่นร้อนประคบบริเวณต้นคอเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ แต่ถ้าเป็นการอักเสบ บวม แดง ควรใช้การประคบเย็น ในกรณีที่ทำวิธีต่างๆ เหล่านี้แล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาที่เหมาะสม

 

อาการปวดคอแบบไหนควรพบแพทย์ ?

หากมีอาการปวดคอรุนแรงหรือฉับพลัน การบีบ นวด หรือกด อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายได้ เพราะอาการปวดนั้นอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อ โรคทางระบบประสาท หรือโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดา โดยเฉพาะหากมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • ไม่สามารถขยับคอได้ตามปกติ เจ็บรุนแรงเมื่อขยับคอ หรืออาการหนักขึ้นเรื่อยๆ
  • มีอาการชา รู้สึกแสบร้อนบริเวณแขน มือ รู้สึกอ่อนแรง จับของแล้วหลุดมือง่าย
  • มีอาการคอแข็งมาก ร่วมกับมีไข้
  • อาการไม่ดีขึ้นแม้จะบรรเทาปวดด้วยวิธีต่างๆ แล้ว
  • เป็นอาการปวดคอที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม รถล้ม หรือมีการกระแทกที่คอ

 

ทำไมจึงควรหลีกเลี่ยงการดึง หมุน สะบัด และการกระชากคอ

เพราะ ‘กระดูกคอ’ มีหน้าที่ปกป้องไขสันหลังส่วนต้นซึ่งเป็นตัวรับ-ส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองกับร่างกายส่วนบน เมื่อไหร่ก็ตามที่ไขสันหลังส่วนต้นได้รับบาดเจ็บก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว และกระทบต่อความรู้สึกบริเวณศีรษะ คอ บ่า ไหล่ รวมถึงแขนและมือได้ ทั้งนี้ การดึง หมุน สะบัด หรือการกระชากคออาจทำให้หลอดเลือดแดง (Vertebral Artery) บริเวณคอฉีกขาดจนส่งผลให้มีเลือดไหลซึมทำให้สมองบวม หรือเกิดการอักเสบและมีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งทำให้สมองขาดเลือดและมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หากกระดูกข้อต่อคอหรือหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้รู้สึกชาไปที่แขน ขา หรืออ่อนแรง ส่วนการหมุนคอ สะบัดคอ หรือกระชากคอที่ไม่รุนแรง แม้จะไม่เป็นอันตรายในทันทีทันใด แต่หากทำซ้ำบ่อยๆ ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกคอเสื่อมได้เช่นกัน

 

การป้องกันและลดความเสี่ยงอาการปวดคอ เริ่มได้จากการปรับลักษณะท่าทางและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน นอน รวมถึงการหนุนหมอนที่เหมาะสมทั้งความอ่อนนุ่มและความสูง การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลัง เพื่อรองรับและปกป้องกระดูกคอและกระดูกสันหลัง หากพบว่ามีอาการปวดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอย่างฉับพลันหรือเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

 

ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 พร้อมให้บริการตรวจรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ทั้งยังมีโปรแกรมตรวจสมรรถภาพทางร่างกายที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในแบบ ‘Value Healthcare’ ที่จะช่วยปกป้องและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง และห่างไกลจากอาการปวดคอ ปวดหลัง เพื่อให้คุณได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและความสุขภาพดีไปอีกยาวนาน