นัดพบแพทย์

ปี 2016 กับวิธีการดูแลผู้สูงอายุที่เปลี่ยนไป

26 Feb 2017 เปิดอ่าน 471

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรครั้งสำคัญ คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนจำนวนประชากรในวัยทำงานและวัยเด็กลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถจะช่วยเยียวยารักษาและประคองชีวิตมนุษย์ให้ยาวนานมากขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์มีส่วนช่วยยืดอายุผู้คนมากขึ้น จึงทำให้คนในยุคปัจจุบันมีอายุยืนมากขึ้น ถ้ามองกันให้ดีประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้ว หากพิจารณาจากคำจำกัดความที่ว่าสังคมผู้สูงอายุคือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาเป็น 10 ปีแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เต็มตัวในอีกไม่เกิน 20 – 30 ปีข้างหน้านี้ เมื่อแนวโน้มสังคมกำลังบ่งบอกเราว่า น้ำหนักที่เราควรจะให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลครอบครัวไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการดูแลเด็ก ๆเพียงอย่างเดียว แต่กำลังจะมีเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุเข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะเตรียมตัวเพื่อรับกับปัญหานี้อย่างไรดี วันนี้จะมีข้อมูลดี ๆ มาฝากเราทุกคนไปติดตามกันเลยดีกว่า

โดยทั่วไปแล้วการนิยามความหมายของผู้สูงอายุก็จะใช้ตัวเลขของอายุเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ซึ่งถ้าเอาตามหลักเกณฑ์นี้ผู้ที่มีอายุ เกิน 60 ปีขึ้นไปก็จัดเป็นผู้สูงอายุ แต่การนิยามความหมายของผู้สูงอายุในทางการแพทย์จริง ๆ แล้ว จะไม่ใช้ตัวเลขเข้ามาเป็นเกณฑ์ แต่จะดูลักษณะสุขภาพ และ สภาวะร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยแต่ละคนเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการนิยาม ซึ่งในจุดนี้คุณหมอได้ชี้แจงประเด็นที่น่าสนใจให้เราได้เข้าใจว่า

“คนแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน เมื่อเรานำคนอายุ 65 ปี 2 คนมาเปรียบเทียบกัน ถึงแม้ว่าตัวเลขอายุจะเท่ากัน แต่ลักษณะสุขภาพ และ สภาวะร่างกายโดยรวม อาจจะแตกต่างกันอย่างมาก เช่น คนแรกอาจจะออกกำลังกายทุกวันมีสุขภาพดีมาก กินอิ่มนอนหลับ ไม่ป่วย ไม่มีโรค ดูภายนอกแล้วลักษณะสุขภาพและสภาวะร่างกายเหมือนคนอายุไม่ถึง 60 ปี แต่อีกคนหนึ่งไม่ได้ออกกำลังกาย มีโรคภัยไข้เจ็บหลายโรค ต้องรับประทานยาต่อวันเป็น สิบ ๆ เม็ด คนที่สองนี้ถ้าดูจากภายนอกลักษณะสุขภาพและสภาวะร่างกายอาจจะเหมือนคนอายุเกือบ 70 ปีได้ ดังนั้น ในทางอายุรศาสตร์ผู้สูงวัยเราจึงไม่นิยามผู้สูงอายุโดยดูจากตัวเลขบนกระดาษแต่เราจะนิยามโดยการพูดคุยและตรวจดูผู้ป่วยจริง โดยประเมินจากลักษณะสุขภาพและสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล” ซึ่งจากที่คุณหมอกล่าวมานั่นเท่ากับว่า แม้คุณจะอายุไม่ถึง 60 ปี แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพมากมายโรครุมเร้า ในทางการแพทย์ก็จัดว่าคุณอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุเหมือนกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการดูแลผู้สูงอายุ เข้ามาช่วยในการดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่คนไทยเรามองข้ามไปก็คือ เมื่อที่บ้านมีคนสูงอายุอยู่ด้วยกัน ทุกคนในบ้านคิดว่าคงดูแลได้ไม่มีปัญหาแต่การดูแลผู้สูงอายุให้ถูกวิธีนั้นทำอย่างไรกลับไม่มีใครตอบได้ คือ เรารู้ว่าเราจะดูแลแต่เราไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไร คุณหมอได้ให้ความรู้กับเราเอาไว้ว่า “ก่อนที่เราจะให้การดูแลผู้สูงอายุ จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนไปของผู้สูงอายุในยุค 2016 นี้เสียก่อนสมัยนี้ ขนาดของครอบครัวในแต่ละบ้านเล็กลง ลูกหลานทั้งหลายอาจจะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับผู้สูงอายุเหมือนสมัยก่อน ทำให้ผู้สูงอายุหลายท่านอยู่บ้านคนเดียว ไม่มีใครดูแลหรือให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนในอดีต ลูก ๆ และคนในครอบครัวก็มีเวลาน้อยลง เพราะทุกคนต้องทำงานหรือเรียนหนังสือ เวลาที่จะมาให้การดูแลผู้สูงอายุ ในครอบครัวก็จะไม่มี ดังนั้น การที่จะใช้วิธีการดูแลผู้สูงอายุ แบบเดิม ๆ นั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน”

สิ่งที่คุณหมอกล่าวมา ทำให้เราต้องกลับมานั่งตระหนักอีกครั้งว่า แล้วเราจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ เมื่อทุกอย่างต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กันทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณหมอให้ความรู้กับเราต่อไปว่า “เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บก็จะเยอะขึ้นด้วย และเมื่อโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ก็ต้องรับประทานยารักษาโรคมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้สูงอายุมักจะมีรายละเอียดความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพที่ต้องใส่ใจและดูแลมากขึ้น ซึ่งปัญหาละเอียดอ่อนซับซ้อนนี้ ควรจะปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการดูแลรายละเอียดสุขภาพของคุณโดยหาทีมที่มีการฝึกฝนทางด้านนี้มาโดยตรง เพราะนอกจากจะมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาด้านนี้แล้ว การทำงานเป็นทีมย่อมจะเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าการทำงานที่ใช้แพทย์อย่างเดียว ซึ่งการดูแลรายละเอียดทางแพทย์เฉพาะทางเช่นนี้ ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางการแพทย์ทั้งหลายควรจะต้องออกนโยบายมารองรับความต้องการด้านนี้ให้ถูกต้องตามหลักอายุรศาสตร์ผู้สูงวัย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางการแพทย์ให้กับผู้สูงอายุ และช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลรายละเอียดซับซ้อนเหล่านี้ให้กับครอบครัวผู้สูงอายุด้วย”

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่าการดูแลผู้สูงอายุ ในปี 2016 นั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตัวผู้สูงอายุเองไปจนถึงครอบครัวคนดูแล คือ เรียนรู้ที่จะนำสิ่งที่ดีและถูกต้องมาให้กัน ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยแพทย์และทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี อันจะทำให้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในทุกวันนี้มากที่สุด ถ้าคุณอยากให้คนที่คุณรักมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว คุณควรจะหาผู้จัดการดูแลสุขภาพของพวกเขา และปล่อยหน้าที่นี้ให้กับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะมอบให้กับคนที่คุณรัก

โดย : พญ. อรุณศิริ แสงอลังการ

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B82016/