นัดพบแพทย์

ป่วยมะเร็งกระดูก ไม่ต้องถูกตัดแขน-ขา

31 Aug 2016 เปิดอ่าน 3703

มะเร็งกระดูก อาจพบได้ไม่มากเท่ามะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะจากประชากร 1 ล้านคน พบป่วยเป็นมะเร็งกระดูกราว 5-10 ราย ทว่าโรคนี้ในความเข้าใจของคนทั่วไปมักคิดว่า ถ้าเป็นแล้วจะต้องตัดส่วนของร่างกายที่ถูกมะเร็งกัดกินนั้นออกไป เช่นเป็นที่ขาก็ต้องถูกตัดขาทิ้งไปหมด เพื่อไม่ให้มะเร็งลุกลามไปที่อื่นและรักษาชีวิตไว้

ด้วยความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคกระดูกของหน่วยเนื้องอกทางออร์โธปิดิกส์ แห่งศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ประจำโรงพยาบาลเลิดสิน ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดกิจกรรมโอเพ่นเฮ้าส์หน่วยดังกล่าว เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยมี นายแพทย์ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเล่าถึงโรคมะเร็งกระดูกว่า มะเร็งกระดูก หมายถึงเนื้องอกชนิดร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย และทำให้เสียชีวิตได้

โดยมะเร็งกระดูก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งกระดูกที่เกิดจากกระดูกบริเวณนั้นเอง พบได้ไม่มาก มักเกิดในเด็กช่วงอายุ 15-19 ปี และคนสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ชายจะเป็นมากกว่าหญิงเล็กน้อย มีโอกาสรักษาให้หายได้ถ้ามารักษาก่อนโรคลุกลาม และอีกประเภท มะเร็งกระดูกที่กระจายมาจากอวัยวะส่วนอื่น เช่น ปอด ไต ต่อมลูกหมาก เต้านม กลุ่มนี้รักษาไม่หาย ทำได้เพียงให้การรักษาแบบประคับประคอง

นพ.ปิยะ กล่าวเน้นถึงการรักษามะเร็งกระดูกที่เกิดจากกระดูกบริเวณนั้นเองว่า มีการพัฒนาไปมาก จากในอดีตจะรักษาโดยตัดรยางค์เหนือส่วนที่เป็นออก (รยางค์ หมายถึง โครงสร้างกระดูกส่วนที่ยื่นออกจากโครงสร้างหลักของร่างกายมนุษย์ เช่น รยางค์บนหรือท่อนแขน รยางค์ล่างหรือท่อนขา) บางรายจึงต้องเสียแขนหรือขาไปทั้งท่อน แต่แม้จะตัดมะเร็งออกหมด ผู้ป่วยก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง และมีอัตรารอดชีวิตเพียงร้อยละ 20 เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่ปอด

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ค.ศ.1980 มีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาดีขึ้น มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มเป็นร้อยละ 60-65 จากนั้นจึงมีการผ่าตัดแบบเก็บรยางค์ คือ การผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งและส่วนรอบๆ ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามะเร็งอาจลุกลามออกไป โดยไม่ต้องเสียแขนหรือขาไปทั้งหมด

เมื่อตัดส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว จะทดแทนส่วนที่เป็นช่องว่างนั้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใส่กระดูกบริจาค หรือใช้กระดูกและข้อโลหะมาใส่แทนที่ ทั้งนี้การผ่าตัดแบบเก็บรยางค์ สามารถทำได้ในกรณีที่มะเร็งก้อนไม่ใหญ่ และอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ไม่กดเบียดหลอดเลือดหรือเส้นประสาทสำคัญ

แม้จะมีการใช้เทคนิคผ่าตัดแบบเก็บรยางค์ แต่ชิ้นโลหะที่นำมาใส่นั้นมีราคาสูงเกือบเท่าราคารถยนต์หนึ่งคัน ประกอบกับเบิกค่ารักษาได้เพียงบางส่วน ทางรพ.เลิดสิน จึงจัดตั้งกองทุนมะเร็งกระดูก เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคให้ผู้ป่วยที่ยากไร้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพในสังคมได้ต่อไป สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2235-7337

มะเร็งกระดูกประเภทที่เกิดจากกระดูกบริเวณนั้น ยังไม่พบสาเหตุการเกิดโรค แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดมาจากยีนที่ผิดปกติ หรือการได้รับรังสีรักษาจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นในปริมาณมาก นพ.ปิยะ จึงเตือนให้ผู้ใดก็ตามที่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ เจ็บลึกไปถึงกระดูก มีก้อนปูดขึ้นผิดปกติในบริเวณที่มีอาการปวด แม้รับประทานยาแก้ปวดแล้ว 2-3 สัปดาห์ไม่หาย กลับยังปวดและปวดมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะอาการที่กล่าวมานี้มีโอกาสเข้าข่ายมะเร็งกระดูก.

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://ascannotdo.wordpress.com/tag/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94/page/2/