นัดพบแพทย์

ภัยร้ายที่ควรระมัดระวัง

26 Aug 2016 เปิดอ่าน 2494

มะเร็งผิวหนัง  คือ มะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มแรกเราเรียก actinic keratoses จะมีลักษณะเป็นผื่นเล็กๆมีขุยมักจะพบบริเวณใบหน้า แขน หลังมือโดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับแสงมาก หากไม่รักษาก็จะกลายเป็นมะเร็งในภายหลัง

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง

        - แสงอัลตราไวโอเลต (uva,uvb) พวกที่ต้องทำงานกลางแดด เล่นกีฬากลางแจ้ง ชอบอาบแดด จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง

         - เชื้อชาติ คนผิวขาว ผมสีบลอนด์ ผิวไหม้แดดง่าย มีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ คนที่เป็นโรคผิวหนัง albinism ซึ่งมีความผิดปกติของการสร้างเม็ดสี จะพบมะเร็งผิวหนังได้บ่อย

         - การได้รับสารเคมีก่อมะเร็ง เช่น สารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ ยาหม้อ ยาไทย ยาจีน ยาลูกกลอน

         - แผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลจากผื่นผิวหนังบางโรค เช่น dle

         - มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง

         - เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น hpv ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ

         - ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต

         - ผิวหนังในบริเวณที่เคยได้รังสีรักษา

         - คนที่สูบบุหรี่นานๆ จะเกิดมะเร็งในช่องปากได้

 มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ สาเหตุที่สำคัญคือ

         - แสงแดด โดยเฉพาะผู้ที่เคยผิวไหม้หรือพวกที่นอนอาบแดดผิวสี tan

         - ผู้ที่ได้รับรังสี

         - แผลเป็นจากรอยไหม้ของผิวหนัง

         - ผู้ที่สัมผัสน้ำมัน

         - กรรมพันธุ์

         - การป้องกันที่สำคัญคือการป้องกันการถูกแสงแดด

         - หลีกเลี่ยงแสงแดดช่วง 10.00-15.00 น ซึ่งเป็นช่วงที่มีรังสี uv สูงสุด

         - สวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อแน่น หมวกปีกกว้าง 3 นิ้วเมื่อเวลาออกแดด

         - ทาครีมกันแสงแดดที่มีค่า spf มากกว่า 15

         - การทาครีมควรทาตั้งแต่ในวัยเด็กเพราะรังที่ประมาณร้อยละ 80 จะได้รับก่อนอายุ 18 ปี

 อาการที่บอกว่าอาจเป็นมะเร็งผิวหนัง

      ไฝที่เป็นอยู่เดิม มีรูปร่างเปลี่ยนไป อาจใช้หลักง่ายๆ คือ abcd ดังนี้
        
1.a= asymmetry  ลักษณะของไฝทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน
        
   b=border irregularity ขอบของไฝไม่เรียบ
        
   c=color  สีของไฝไม่สม่ำเสมอ
        
   d=diameter  ขนาดของไฝใหญ่กว่า 6 มม.

         2.มีผื่นหรือก้อนที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่หายใน4-6 สัปดาห์

         3.ไฝหรือปานที่โตเร็ว และรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดออก

         4.แผลเรื้อรังไม่หายใน 4 สัปดาห์

ถ้ามีข้อสงสัย ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัย ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

   การรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และการลุกลามของโรค โดยทั่วไปมักใช้วิธีผ่าตัดเอามะเร็งผิวหนังออกให้หมด หลายครั้งที่มะเร็งเกิดบนใบหน้า ในบริเวณที่อาจมีการผิดรูปจากการผ่าตัดได้ ปัจจุบันมีวิธีผ่าตัดโดยวิธีที่เรียก mohs micrographic surgery แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ในคราวเดียวกัน เพื่อตรวจดูว่าได้ตัดมะเร็งออกได้หมด หากยังมีหลงเหลือ ก็จะกลับมาผ่าตัดซ้ำจนหมด จึงจะเย็บปิดแผล วิธีนี้จะทำให้สามารถตัดมะเร็งออกได้หมดในคราวเดียว โดยไม่ตัดเนื้อดีออกมากเกินจำเป็น แต่ในบางครั้ง มะเร็งถูกทิ้งไว้จนมีขนาดใหญ่เกินที่จะตัดออกได้หมด อาจรักษาโดยการใช้รังสีรักษา หรือถ้ามีการแพร่กระจาย จะต้องให้เคมีบำบัดร่วมด้วย

        โดยสรุป มะเร็งผิวหนังสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัย และรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ในคนทั่วๆ ไปก็ไม่ควรประมาท ระวังอย่าถูกแสงแดดจัด ใช้ครีมกันแดดให้ถูกต้องและเหมาะสม สังเกตการเปลี่ยนแปลงของหูด,ไฝ, ปาน หากมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายใน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

 

พ.ญ. สุหัทยา อังสุวรังษี

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/6768