นัดพบแพทย์

ภัยเงียบของโรคมะเร็งรังไข่

12 Aug 2016 เปิดอ่าน 1582

ปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด อาจมีความผิดปกติของยีนบางชนิดในร่างกาย และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งคนที่มียีนผิดปกตินี้มีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปในการเกิดโรค โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงวัยกลางคนหรือสูงอายุ ผู้ที่มีประจำเดือนเร็วและหมดประจำเดือนช้า มีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ เต้านม หรือทางเดินอาหาร  รวมทั้งหญิงนั้นเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ตลอดจนผู้ที่ไม่เคยคลอดบุตร หรือมีบุตรยาก

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ จะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากความผิดปกติในระบบอื่น ๆ เช่น ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า และมักตรวจพบเมื่ออาการโรคลุกลามออกไปมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร  ดังนั้นหากท่านมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เช่น ท้องอืดแน่น รู้สึกอิ่มเร็วหลังรับประทานอาหาร ปวดท้องในอุ้งเชิงกราน มีปัสสาวะบ่อย หรือกลั้นลำบาก การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม  มีเลือดหรือตกขาวผิดปกติจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์

สำหรับการตรวจหามะเร็งรังไข่นั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจภายใน ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมโดยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป มะเร็งรังไข่บางชนิดสร้างโปรตีนซึ่งตรวจพบได้ในเลือด เรียกว่าสารบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยและตรวจติดตามภายหลังการรักษาได้ แต่ไม่แนะนำให้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ เนื่องจากความแม่นยำต่ำและไม่เฉพาะเจาะจงต่อโรค

การตรวจพบก้อนที่รังไข่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นมะเร็งเสมอไป เนื่องจากก้อนที่รังไข่ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง และรังไข่ที่โตบางชนิดสามารถที่จะยุบเองได้โดยไม่ต้องการการรักษา แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนเสมอ

สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ที่ง่ายที่สุดคือ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากสงสัยว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาหากตรวจพบว่ามีความผิดปกติ และควรตรวจสุขภาพโดยเฉพาะทางด้านนรีเวชเป็นประจำทุกปี  เนื่องจากระยะของโรคเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลต่อการรักษา นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพสตรี

 เรื่องโดย : อ.พญ.ปัทมา เชาว์โพธิ์ทอง ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content