นัดพบแพทย์

ภาวะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะโดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Microscopic Hematuria)

17 Dec 2016 เปิดอ่าน 2957

ภาวะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะโดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Microscopic Hematuria)

ตรวจร่างกายพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหมายความว่าอย่างไร? อันตรายหรือไม่? 

          หลายๆท่านอาจเคยตรวจร่างกายประจำปีแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ทั้งๆที่ปัสสาวะของเราก็ใสดี ไม่แดง ไม่มีอาการผิดปกติอะไร แล้วการพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะนั้นสำคัญอย่างไร เกี่ยวกับโรคใดได้บ้าง จะเป็นนิ่วจริงเหมือนกับที่คนอื่นว่าหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้คลายสงสัยกัน

พบเม็ดเลือดแดงกี่ตัวถึงจะเรียกว่าผิดปกติ

          ในปัสสาวะของคนปกติสามารถที่จะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ปริมาณเล็กน้อย แต่ถ้าการตรวจพบเม็ดเลือดแดงมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ตัวในกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 400 เท่า(RBC ≥3 /HPF) จึงถือว่าเริ่มน่าสงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติได้ (microscopic hematuria) แต่ปัสสาวะที่นำมาตรวจนั้นต้องเก็บอย่างถูกต้อง ไม่ปนเปื้อน(การเลือกเก็บปัสสาวะตอนช่วงกลางของปัสสาวะ), ไม่ได้มีภาวะการติดเชื้อระบบปัสสาวะอยู่ขณะเก็บปัสสาวะ, ในผู้หญิงควรเก็บปัสสาวะขณะไม่มีประจำเดือนเพราะอาจมีการปนเปื้อนเลือดจากประจำเดือนได้ และการตรวจคัดกรองโดยใช้แผ่นจุ่มตรวจปัสสาวะแล้วพบว่ามีเลือดปนในปัสสาวะจำเป็นที่ต้องจะต้องตรวจเพิ่มเติมต่อด้วยการส่องทางกล้องจุลทรรศน์อีกครั้ง

แล้วสาเหตุของการพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเกิดจากอะไรบ้าง

          สาเหตุของการพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมีมากมาย โดยอาจแบ่งออกได้คร่าวๆเป็น 2 กลุ่ม เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอายุรกรรมโรคไต เช่นภาวะไตอักเสบ เป็นต้น โดยในปัสสาวะนั้นอาจพบว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (proteinuria) หรือมีลักษณะของเม็ดเลือดแดงที่ผิดรูป (dysmorphic RBC) ร่วมด้วย ถ้าพบลักษณะดังกล่าวแนะนำให้พบกับคุณหมอทางด้านอายุรกรรมเป็นหลัก และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับทางศัลยกรรมระบบปัสสาวะ เช่นโรคต่อมลูกหมากโตในเพศชาย, โรคนิ่ว, โรคเนื้องอกในระบบปัสสาวะ เป็นต้น  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับทางศัลยกรรมระบบปัสสาวะเป็นหลัก

          โดยมีงานวิจัยพบว่าสาเหตุส่วนมากมักจะเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต, โรคนิ่ว, ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยมีส่วนน้อยประมาณ 2.6% ที่พบว่าเกิดจากโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยที่จากการวิจัยพบว่าถ้าพบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะร่วมกับความเสี่ยงดังตารางที่ 1 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น

 

ตารางที่ 1 : ความเสี่ยงในการเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ที่มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ

เป็นเพศชาย

อายุมากกว่า 35 ปี

มีประวัติสูบบหรี่

มีประวัติสัมผัสต่อสารเคมีจำพวกเบนซีนหรือสีย้อมผ้า

มีประวัติติดยาจำพวกแก้ปวด (Analgesic abuse)

มีประวัติปัสสาวะเป็นสีเลือด (Gross hematuria)

มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ ร่วมด้วย (Irritaive symptom) 

เคยมีประวัติฉายแสงที่บริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน

มีประวัติติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง เป็นๆหายๆ

 

มีประวัติเคยได้รับเคมีบำบัดมาก่อนหน้านี้

ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะแล้วควรทำไงต่อดี

          ในผู้ที่พบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (microscopic hematuria) ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการคัดกรองสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้พบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ เช่น การมีประจำเดือน , การติดเชื้อในระบบปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจปัสสาวะซ้ำหลังจากได้รับการรักษาแล้วหรือตรวจซ้ำหลังจากหมดประจำเดือน  ถ้าพบว่ายังคงมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจค่าการทำงานของไต , การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ หรือการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การเอกซเรย์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (Intravenous Pyelography) , การทำอัลตราซาวน์ไต (KUB ultrasound) , การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น  เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ เพื่อการรักษาต่อไป

โดยสรุปถ้าพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจากการตรวจร่างกายประจำปี ถ้าพบว่ามีเม็ดเลือดแดงอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อประเมิน หาสาเหตุต่อน่ะครับ

 

นพ.ดุษฎี โสวรรณทิพย์

* ขอบคุณบทความจาก : https://www.urochula.com/info/general-info/360