นัดพบแพทย์

มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยเงียบของท่านชาย

26 Aug 2016 เปิดอ่าน 2169

        ต่อมลูกหมากนั้น เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีรูปร่างลักษณะคล้ายเม็ดเกาลัด หนักประมาณ 20 กรัม หน้าที่ของมันคือผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำกามที่หลั่งออกมาตามปกติของท่านชาย ส่วนสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ยังไม่มีใครทราบ แต่มะเร็งนั้นเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากมากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสพบได้ในผู้ชายอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป และพบสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น
       
       สำหรับประเทศไทย อุบัติการณ์มะเร็งต่อมลูกหมากพบเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในเพศชาย แต่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้นกลับสูงเป็นอันดับ 2 และพบว่ามีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น คือช่วงระหว่างวัย 60-79 ปี แนวโน้มพบมากขึ้น เพราะคนไทยอายุยืนขึ้น
       
       มีรายงานทางการแพทย์หลายแห่ง พบว่า นอกจากอาหารที่มีไขมันสูงอาจจะมีส่วนที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย อย่างถ้าท่านมีบิดาที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โอกาสที่จะเป็นย่อมสูงกว่าคนปกติ
       
       มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถป้องกันได้ไหม
       

       ต้องยอมรับก่อนว่า ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น มะเร็งหลายๆ ชนิดก็ไม่สามารถป้องกันได้ สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น แม้เราจะป้องกันได้ แต่สามารถระวังติดตามคอยตรวจอย่างสม่ำเสมอว่าเราเป็นมะเร็งต่อมลูกหมายหรือไม่
       
       โดยเฉพาะท่านชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากประจำปีจากแพทย์ โดยขั้นต้นนั้นแพทย์จะซักถามอาการเกี่ยวกับระบบปัสสาวะของท่าน รวมทั้งตรวจคลำต่อมลูกหมากโดยการใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาด รูปร่าง ความยืดหยุ่น และความแข็งของต่อมลูกหมาก ซึ่งถ้าคลำได้ต่อมลูกหมากที่แข็ง ผิวขรุขระละก็ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นค่อนข้างสูงทีเดียว
       
       จากนั้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อหาสารค่ามะเร็งของต่อมลูกหมากที่เรียกว่า PSA(Proslate Specific Antigen) สารนี้จะถูกผลิตออกมามากผิดปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาย ถ้าระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะสูงตามไปด้วย ถึงตอนนี้แพทย์จะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าท่านเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
       
       ระยะมะเร็งต่อมลูกหมาก
       
       เพื่อให้เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน ขอแบ่งมะเร็งต่อมลูกหมากออกเป็น 4 ระยะ โดยที่ในระยะเริ่มแรกนั้นมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ต่อมาเริ่มปัสสาวะลำบากมากขึ้น ต้องเบ่ง ปัสสาวะไม่ออก อาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ
       
       ในระยะท้ายๆ ของโรค มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง กระดูกและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อสะโพก กระดูกซี่โครง หัวไหล่ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดและบางรายอาจจะเดินไม่ได้ เป็นอัมพาตเนื่องจากมีการหักของกระดูกสันหลักไปกดทับไขสันหลัง
       
       ระยะมะเร็งต่อมลูกหมาก ลักษณะทั่วไป อาการที่อาจพบได้
       
       ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็กอยู่ในต่อมลูกหมาก จะไม่มีอาการในระยะนี้ ส่วนการตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
       
       ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมากสามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก  จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง 
                       
       ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นท่อปัสสาวะ และกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก  จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง บางครั้งปัสสาวะไม่ออก
       
       ระยะที่ 4 ระยะที่ 4.1 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลืองรอบๆ จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลัง ปวดกระดูก น้ำหลักลด อ่อนเพลีย อัมพาต
       
       ระยะที่ 4.2 มะเร็งลุกลามไปกระดูก อวัยวะอื่นๆ อาการจะเช่นเดียวกับระยะที่ 4.1
       
       การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

       เมื่อท่านรู้ถึงระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ขั้นต่อไปคือการรักษาตามระยะ
       อาการของโรค มีดังต่อไปนี้
       
       ระยะเริ่มแรก คือมะเร็งระยะที่ 1 และ 2 ระยะนี้เนื้อมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ยังไม่แพร่กระจาย เราสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไปมี 2 วิธีคือ
       
       การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุไม่มาก ปัจจุบันนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยใช้กล้องเจาะผ่านช่องท้อง(Laparoscopic surgery) ในปัจจุบันมีรายงานทางการแพทย์จากทั่วโลกถึงผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่รักษาด้วยวิธีใช้กล้องแล้วเกือบ 10,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี
       
       ข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้องมีปลายประการเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด คือ เจ็บแผลน้อยกว่าเนื่องจากเป็นแผลเจาะรู เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วหลังผ่าตัด การตัดเลาะต่อมลูกหมากสามารถทำได้ละเอียดแม่นยำ เนื่องจากเห็นภาพขยายทางภายวิภาคของท่อปัสสาวะและใยเส้นประสาทจากการส่องกล้องได้ดีและชัดเจนกว่า
       
       อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปิดหรือการผ่าตัดส่องกล้องก็ตามคือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจสูญเสียการควบคุมปัสสาวะไปชั่วคราว หรือมีภาวะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์
       
       การรักษาทางรังสี เป็นการฉายรังสีเข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยการฝังแร่เข้าไปที่บริเวณต่อมลูกหมาก วิธีนี้มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด โอกาสสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศจะน้อยกว่าการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีผลแทรกซ้อนเนื่องจากการฉายรังสี นั่นคือ ปัญหาการอุจจาระบ่อย เกิดการระคายเคืองที่ทวารหนัก ปัสสาวะลำบากและปัสสาวะบ่อยร่วมได้
       
       ระยะกลาง คือระยะที่ 3 เนื่องจากระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามทะลุออกนอกเปลือกของต่อมลูกหมากแล้ว และบางครั้งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้วิธีผสมผสานที่มากกว่า 1 วิธีเช่น อาจใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง และหรือให้ยาทางด้านฮอร์โมน ซึ่งวิธีเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับระยะที่แน่นอนของโรค อายุผู้ป่วย และที่สำคัญคือดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งต่อมลูกหมาก การมุ่งหวังให้หายขาดในกลุ่มนี้จะน้อย แต่จะมีโอกาสบ้างในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายออกไปนอกเปลือกต่อมลูกหมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
       
       ระยะแพร่กระจาย คือระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว การมุ่งหวังรักษาให้หายขาดจึงเป็นไปได้ยาก แต่เนื่องจากธรรมชาติของมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่โตช้า ดังนั้น แม้จะเป็นมะเร็งที่ลุกลามไปแล้ว ถ้าให้การรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการดีขึ้น หรือยืดระยะเวลาของการแพร่กระจายหรือการเสียชีวิตออกไปได้พอสมควร
       
       การรักษาที่นิยมคือ ตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง หรือบางรายอาจให้ยาด้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังอาจให้การรักษาผสมผสานร่วมเป็นกรณีไป เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูก เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่ตำแหน่งใด อาจใช้การฉายรังสีรักษาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปวดก็เป็นได้

 

รศ.นพ.ไชยยงค์ นวลยง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000021076