นัดพบแพทย์

มะเร็งปากมดลูก...ป้องกันได้…..ไม่ยาก!!

04 Dec 2016 เปิดอ่าน 1980

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย รองมาจากมะเร็งเต้านม ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 10,000 คน หรือวันละ 27 คน และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ ร้อยละ 80 ของมะเร็งปากมดลูกพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปี บางคนเป็นแม่ของลูกเล็กๆวัยน่ารักถึงช่วงวัยรุ่น บางคนเป็นลูก กำลังทำงาน สร้างครอบครัว ถ้าแม่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก สมาชิกที่เหลือในครอบครัวจะเดือดร้อนอย่างมาก


ทำไมมะเร็งปากมดลูกจึงป้องกันได้ไม่ยาก ?

          มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ คือสามารถป้องกันได้จริง ๆ ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ “รู้ตัวก่อการ – ใช้เวลานานก่อนเป็น – มีระยะก่อนมะเร็งนำมา – นานาวิธีป้องกัน”

 

ตัวก่อการหรือสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งหลายชนิดยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ มะเร็งบางชนิดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มะเร็งตับ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อพยาธิ์ใบไม้ในตับจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ การกินสารพิษอะฟล่าทอกซินจากเชื้อราดำในขนมปัง ถั่วลิสงฯลฯ และสารพิษอื่นๆในอาหาร เป็นต้น แต่มะเร็งปากมดลูก ทางการแพทย์พิสูจน์ทราบสาเหตุแน่นอนแล้วว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเดียวโดดๆ ที่ชื่อ ฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส( human papillomavirus) เรียกย่อ ๆ ว่า “HPV” เชื้อไวรัสนี้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อไวรัสนี้ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นแนวทางการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสนี้จึงไม่น่าจะยาก คงไม่ถึงกับต้องงดการทำกิจกรรมทางเพศ แต่ถ้าจะมีหรือจำเป็นต้องมีก็ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น มีคู่นอนคนเดียว หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย ใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิด และชักชวนคู่นอนให้มีคู่นอนคนเดียวด้วย เป็นต้น

 

# มะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานเท่าไรก่อนจะเป็น ?

           ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ HPV จนกระทั่งเป็นมะเร็งปากมดลูกใช้เวลานาน 10-20 ปี ขึ้นกับศักยภาพในการก่อมะเร็ง หรือความดุร้ายของเชื้อ HPV และภูมิต้านทานของปากมดลูก มะเร็งหลายชนิดยังไม่ทราบว่าใช้ระยะเวลานานเท่าไรตั้งแต่ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย อาจจะใช้เวลานานหรือไม่นานหรือไม่ทราบเลยจริง ๆ การที่มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาก่อโรคนาน10-20 ปี ทำให้มีเวลาเหลือเฟือที่จะป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อตัว

           แต่ที่อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกยังคงสูงอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเพราะผู้หญิงที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรวจคัดกรองกัน อัตราการครอบคลุมของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยค่อนข้างต่ำไม่ถึงร้อยละ 20 ประเทศที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกต่ำจะมีอัตราการครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80

 ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกคืออะไร

          นับว่าโชคดีอย่างหนึ่งที่มะเร็งปากมดลูกนอกจากจะใช้เวลานานถึง10-20 ปีกว่าจะเป็นมะเร็งแล้ว ยังมีความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งด้วยที่เรียกว่า “รอยโรคก่อนมะเร็ง” หรือ “รอยโรคก่อนระยะลุกลาม” ความผิดปกติในระยะนี้จะเป็นอยู่นาน 5-10 ปี กว่าจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเริ่มแรก การที่มะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานก่อนเป็นและมีระยะก่อนมะเร็งนำมา ทำให้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ ทุก 1-2 ปี หรือ ทุก 3-5 ปี ก็ได้(ถ้ามีความเสี่ยงต่ำ เช่น มีคู่นอนคนเดียว) การตรวจคัดกรองมีจุดประสงคเพื่อตรวจให้พบความผิดปกติตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งเพื่อที่ จะได้ให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง เปรียบเสมือนเป็นการตัดตอนหรือตัดไฟแต่ต้นลม มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด ฯลฯ ยังไม่มีระยะก่อนมะเร็งให้ได้ตรวจคัดกรอง ถ้าตรวจพบก้อนเนื้องอกหรือมีอาการก็มักจะเป็นมะเร็งแล้ว

 นานาวิธีป้องกันของมะเร็งปากมดลูกคืออะไร

          มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หลากหลายวิธี โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ

1. ระดับปฐมภูมิหรือระดับตัดต้นตอ คือ การป้องกันไม่ให้ปากมดลูกติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นตัวก่อการต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก การป้องกันในระดับนี้มีหลายวิธี เช่น การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV โดยการมีคู่นอนเพียงคนเดียว และถ้าคู่นอนก็มีคู่นอนคนเดียวด้วยก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ช่วยลดความเสี่ยงนี้ด้วยเช่นกัน การฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine) เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ ก็จัดว่าเป็นการป้องกันในระดับนี้เช่นกัน เพราะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ จะออกจากกระแสเลือดเข้ามาในมูกและสารคัดหลั่งของปากมดลูกและช่องคลอดทำให้เชื้อจะไม่สามารถเข้ามาติดเชื้อที่ปากมดลูกได้ แต่เนื่องจากวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะที่เกิดจาก เชื้อ HPVสายพันธุ์ 16 และ 18 เท่านั้น ทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70-75 ดังนั้นยังมีเชื้อ HPV อีกร้อยละ 25-30 ที่การฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันได้ การฉีดวัคซีนควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น

  2. ระดับทุติยภูมิหรือระดับตรวจคัดกรอง คือ การตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกเพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก การป้องกันในระดับนี้มีหลายวิธีเช่นกัน เช่น

         - การตรวจหาเชื้อไวรัส HPVที่ก่อปากมดลูก เป็นการตรวจหาตัวก่อการที่สำคัญของมะเร็งปากมดลูก โดยอาศัยหลักการว่า “ ถ้าไม่มีเชื้อ จะเป็นมะเร็งปากมดลูก” ( no HPV, no cervical cancer) การตรวจยังค่าใช้จ่ายสูงอยู่ในปัจจุบัน แต่มีความแม่นยำสูงมาก ถ้าตรวจไม่พบเชื้อ HPV สามารถเว้นระยะห่างของการตรวจคัดกรองได้นานถึง 3-5 ปี เพราะการตรวจมีความแม่นยำในการบอกว่าไม่เป็นมะเร็งสูงถึงร้อยละ99-100 ถ้ามีความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งที่ปากมดลูก การตรวจมักจะให้ผลบวกเพราะการตรวจมีความแม่นยำในการตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งสูงถึงร้อยละ95-100

         - การตรวจเซลล์ของปากมดลูกที่เรียกว่า แพปสเมียร์(Pap smear) ในปัจจุบันการตรวจมีทั้งแบบมาตรฐาน (conventional Pap smear) ซึ่งจะใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง และแบบแผ่นบาง
(thin layer) ซึ่งจะเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อนแล้วจึงดูดขึ้นมาย้อมบนแผ่นกระจกแบบหลังนี้ทำให้ความผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนในการอ่านแปลผลลดลง ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองสูงขึ้น

         - การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูหรือ visual inspection with acetic acid ที่เรียกย่อๆว่า VIA ก็สามารถใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือทราบผลทันที ถ้าตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งก็สามารถให้การรักษาโดยการจี้ด้วยความเย็นได้ทันที

         จะเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไม่ยาก ขอเพียงพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ HPV ซึ่งทราบแล้วว่ามาจากการมีเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูกจึงถือว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย (safe sex) ดังที่กล่าวข้างต้นจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้อย่างมาก การฉีดวัคซีนเอชพีวี จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้อีกประมาณร้อยละ 70-75 นอกจากนี้แล้วการมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอก็ยังช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่ามะเร็งจะเกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดก็ตาม การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอย่อมตรวจพบได้ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง

          จะเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกมีจุดอ่อนคือ รู้ตัวก่อการ ใช้เวลานานก่อนเป็น มีระยะก่อนมะเร็งนำมา นานาวิธีป้องกัน

 

แหล่งข้อมูล  

ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์, 

สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย : Thai Gynecologic Cancer Society

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/DIVING/2013/03/05/entry-1