เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ถึงแม้จะมีอายุเพียง 38 ปี แต่หนุ่มไฟแรงอย่างกำธรก็ต้องแบกรับภาระหน้าที่อันสำคัญของบริษัท เพราะเขาเป็นหนึ่งเดียวที่ทุกคนฝากความหวังไว้ว่าจะนำพาชื่อเสียงและความสำเร็จมา
เช้าวันเริ่มต้นของสัปดาห์ ขณะตั้งใจทำงานอย่างขะมักเขม้น จู่ๆ เขารู้สึกอ่อนล้าอย่างที่ไม่เคยเป็น เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่าตัวเองมีไข้อ่อน ๆ จึงรีบเข้านอน แต่เมื่อตื่นขึ้นในช่วงวันใหม่ไข้อ่อน ๆ นั้นก็ยังไม่ยอมลด ด้วยความกังวลในงาน เขาจึงรีบอาบน้ำแต่งตัวออกไปทำงานเช่นเคย และในคืนที่ 3 ก่อนเข้านอน เขาแปรงฟันและพบเลือดออกตามไรฟัน
แล้ววันสุดท้ายของสัปดาห์ก็มาถึงพร้อมๆ กับการนัดหมายประชุมสรุปงานในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในวันหยุดเขาจึงนอน
พักผ่อนเป็นการเพิ่มพลังให้ตัวเอง วันนั้นเขาพบรอยช้ำที่หลังมือโดยไม่ทราบสาเหตุ และเช้าวันรุ่งขึ้น รอยช้ำนั้นก็ขยายใหญ่กว่าเดิมเป็นเท่าตัว นับจากวันที่มีไข้อ่อนๆ จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 7 วันพอดี สิ่งที่เขาพบในเช้าวันนั้นคือรอยช้ำที่มือขยายใหญ่ขึ้นอย่างมากและลามไปที่แขนอย่างน่าตื่นตระหนก เกิดอะไรขึ้นกับแขนของเขา
กลุ่มเสี่ยง
มะเร็งเม็ดเลือดขาว มี 2 ชนิดคือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมีสาเหตุการเกิดไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากภาวะผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่าง ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดกลายพันธุ์นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่างก็ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้มากขึ้น รวมถึงการได้รับสารเคมีบางอย่าง
อาการที่พึงระวัง
อาการไข้อ่อนๆ เลือดออกตามไรฟันเกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคนี้คือรอยฟกช้ำที่ขยายใหญ่ขึ้น ซื่งเกิดจากการที่มีเลือดออกไม่หยุดภายในร่างกาย รอยจ้ำที่เกิดขึ้นสามารถเป็นได้ทุกส่วนในร่างกาย
สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน หากเป็นโรคนี้ ประจำเดือนอาจจะออกมากเพราะเกล็ดเลือดต่ำ
ลักษณะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
โรคลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน หรือมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเฉียบพลัน (Acute Leukemia) เกิดจากการที่ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดปกติมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนมากและรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาในกรณีที่ร้ายแรงมากๆอาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตก หรือมีเลือดออกในปอด
ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือด 3 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด หน้าที่ปกติของเม็ดเลือดแดงคือ ช่วยในการนำพาออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย จากปอดไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เราคิดอะไรต่างๆได้ เลือดไปเลี้ยงหัวใจทำให้หัวใจทำงานได้ยามเมื่อเราออกกำลังกาย และเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย
เกล็ดเลือดมีหน้าที่ในการช่วยห้ามเลือด สังเกตว่าถ้ามีบาดแผลเล็กๆ เพียงไม่กี่นาทีเลือดก็จะหยุดไหล หรือเอาพลาสเตอร์แปะก็หยุด แล้วแต่ บางคนมีบาดแผลแล้วเลือดไหลไม่หยุดเป็นเวลานาน เป็นสัญญาณว่าร่างกายอาจมีปัญหาเรื่องเกล็ดเลือดต่ำ และอาจทำให้เกิดจ้ำเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเลือดซึมออกตามไรฟันโดยไม่มีการแปรงฟัน
ส่วนเม็ดเลือดขาวถูกสร้างมาจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการทำลายเชื้อโรคแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อใดที่เม็ดเลือดขาวมีจำนวนน้อยลง ร่างกายก็จะมีการติดเชื้อง่าย ทำให้มีภูมิต้านทานน้อยมีไข้อ่อน ๆ และอ่อนเพลีย
โดยทั่วไปร่างกายจะต้องมีปริมาณเม็ดเลือดขาวอยู่ที่ 4,000-10,000 แต่คนที่เป็นโรคนี้ ค่าของเม็ดเลือดขาวอาจจะอยู่ที่ 100,000 - 200,000 หากมีเม็ดเลือดขาวจำนวนมากจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนทำให้อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
***เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติได้สลายเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด***
***รอยฟกช้ำที่ขยายใหญ่ขึ้นจากเลือดที่ไหลไม่หยุดในร่างกาย***
วิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
เข้ารับการเจาะตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาสภาวะเสี่ยง การตรวจ CBC จะช่วยบอกความผิดปกติของเลือด 3
อย่างด้วยกัน ได้แก่ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด
กรณีของกำธรเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดที่พบได้ไม่บ่อย (ชนิด Acute Promyclocytic Leukemia)
แต่เป็นชนิดที่มีผลการรักษาดีมากในปัจจุบัน คือ ต้องลดปริมาณของตัวมะเร็งให้ได้มากที่สุดด้วยการให้ยารับประทาน ซึ่ง
เป็นสารที่ช่วยในการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติกลับมาเป็นเซลล์ที่ปกติได้ แต่ต้องให้ควบคู่กับยาเคมีบำบัด ทำให้คนไข้มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมีโอกาสหายขาดได้
นอกจากนี้ การที่กำธรรีบไปพบแพทย์ จะทำให้รักษาได้ทันการภายในเวลาครึ่งปี
รู้ไว้ไกลโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ลักษณะสำคัญของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน คือ ความเร็วในการพัฒนาของโรค เมื่อใดที่เกิดโรคนี้ขึ้นแล้วจะสามารถพัฒนาภายใน 1 เดือน ดังนั้นเมื่อเป็นแล้วสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ
1. เลือดออกง่าย ต้องไม่ให้มีบาดแผล ทำอะไรต้องระวังอย่าไปชนกรือกระแทกกับอะไร
2. ติดเชื้อง่าย ต้องดูแลเรื่องของสภาพแวดล้อม พยายามอย่าเดินเท้าเปล่าเพราะหากโดนสะเก็ดหินหรืออะไรตำ ถึงแม้จะมีขนาดเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นช่องทางเปิดรับเชื้อโรคและอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล และอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะและขอรับเกล็ดเลือดหากเกล็ดเลือดต่ำมาก
แพทย์ผู้ให้ข้อมูล : นพ.ต้นตนัย นำเบญจพล อายุรแพทย์ที่ปรึกษาด้านมะเร็งวิทยา
* ขอบคุณบทความจาก : http://www.bim100.in.th