อุบัติการณ์ของมะเร็งในเด็ก
ข้อมูลปัจจุบันรายงานว่า ทั่วประเทศไทยมีผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคมะเร็งรายใหม่มากกว่า 900 รายต่อปี ประมาณร้อยละ 50 เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเร่งด่วน โดยทั่วไปแล้ว โรคมะเร็งในเด็กสามารถรักษาได้หลายวิธี อาทิเช่นการให้ยาเคมีบำบัดตามมาตรฐาน แต่ถ้าผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี หรือมีโรคมะเร็งกำเริบเป็นซ้ำ ผู้ป่วยนั้นจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์จึงจะมีโอกาสหายขาด นอกจากนี้การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งของไขกระดูกบางชนิดได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่าย ต้องใช้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงไปทำลายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทั้งที่ผิดปกติและปกติในไขกระดูก ด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้ไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ (ทั้งจากญาติพี่น้องหรือผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติกัน) เพื่อทดแทนเซลล์ไขกระดูกที่ถูกทำลายไป เพื่อสร้างเม็ดโลหิตขึ้นใหม่และรักษาชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ ในการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ควรจะต้องหาไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ จากผู้บริจาคมาที่มีหมู่เนื้อเยื่อ HLA ตรงกัน 6/6 ตำแหน่ง หากไม่สามารถหาญาติพี่น้องที่มีหมู่ HLA ตรงกันได้ จะต้องหาสรรหาผู้บริจาคที่ไม่ได้เป็นญาติกันแต่บังเอิญโชคดีมีหมู่ HLA เข้ากันได้ให้พบ แต่โอกาสเป็นไปได้ยังมีน้อย ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากจึงสูญเสียโอกาสในการรักษาโรคร้ายให้หายขาด
แนวทางใหม่ในการรักษาโรคโดยการใช้สเต็มเซลล์
สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมีอยู่ใน 3 แหล่งหลักๆ คือ
- ไขกระดูก
- เซลล์จากกระแสเลือด
- เลือดจากสายสะดือ
ในปี พ.ศ. 2531 ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ค้นพบว่าสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ สามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายรักษาเด็กชายวัย 5 ขวบชาวฝรั่งเศสที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง Fanconi นับจากนั้นเป็นต้นมา เลือดจากสายสะดือก็ค่อยๆเข้ามามีบทบาทแทนที่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือเริ่มตื่นตัวและแพร่หลายมากขึ้น ประกอบกับงานวิจัยเรื่องการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการปลูกถ่ายรักษาโรคก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบันการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือหรือสเต็มเซลล์ มีการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทางเลือกที่สำคัญแทนการการปลูกถ่ายจากไขกระดูกในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคไขกระดูกมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ของความเข้ากันของหมู่เนื้อเยื่อ HLA ยังขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงกันของแต่ละเชื้อชาติด้วย ข้อดีของสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือคือ อยู่ในสภาพเก็บสงวนแช่แข็งไว้ สามารถพร้อมใช้งานได้ทันที ขั้นตอนการเก็บเซลล์ไม่ได้ทำให้ทารกแรกเกิดนั้นบาดเจ็บหรือมีอันตรายใดๆ โอกาสติดเชื้อไวรัส CMV ก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก และแม้ว่าจะมีหมู่ HLA ต่างกันกับของผู้ป่วย 1-2 ตำแหน่ง ก็ยังมีโอกาสนำมาปลูกถ่ายเซลล์ติดสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือคือ เก็บเลือดได้ในปริมาณน้อยและเก็บได้แค่ครั้งเดียวขณะแรกคลอด ซึ่งในบางกรณีการปลูกถ่ายอาจต้องใช้จำนวนสเต็มเซลล์ให้มีมากเพียงพอแก่น้ำหนักตัวของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยผู้ใหญ่หรือเป็นผู้ป่วยน้ำหนักตัวมาก อาจจะปลูกถ่ายเลือดสายสะดือไม่สำเร็จ กระนั้นก็ตาม การเพิ่มขยายปริมาณสเต็มเซลล์นอกร่างกายในห้องทดลอง ก็อยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาอยู่ ซึ่งหวังว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต
มุมมองต่อสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือสำหรับเป็นทางเลือกในการปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรค
ถ้ามองในมุมของผู้ป่วย หรือแพทย์ผู้ทำการรักษา ย่อมต้องการสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาให้กับผู้ป่วยหรือคนที่เขารัก ถ้ามีโอกาสเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือเพื่อบุตรตัวเองในอนาคตหรือจะบริจาคเพื่อคนอื่นในอนาคต ก็เป็นสิทธิ์ที่พึงปฏิบัติของคุณพ่อแม่แต่ละท่าน ถ้ามองในมุมของการเก็บเพื่อเผื่อไว้ใช้ในการรักษาโรคในอนาคต ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในทางการแพทย์เพื่อการรักษานั้นจะสามารถนำมาใช้รักษาได้จริงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
จากประสบการณ์ในการศึกษาและดูงานทางด้านการรักษาในต่างประเทศ พบว่านานาประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้ความสำคัญของการมีระบบธนาคารสเต็มเซลล์สาธารณะที่สามารถตรวจสอบได้ว่าแต่ละธนาคารมีสเต็มเซลล์ที่มีหมู่ HLA อะไร เพื่อให้สามารถค้นหากรณีที่มีผู้ป่วยต้องการสเต็มเซลล์นั้นๆเพื่อการรักษาได้ การทำเช่นนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับประชาชนในประเทศ และกับผู้ป่วยที่รอความหวังเพื่อการรักษาโรคร้ายให้หายขาด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ควรที่จะต้องมีการสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมา เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชาชนคนไทย
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokhospital.com/cancer/?p=342