นัดพบแพทย์

ระหว่างการตั้งครรภ์ อย่ามองข้ามความสำคัญของการนอน Sleep During Pregnancy

01 Aug 2016 เปิดอ่าน 5161

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ หรือกำลังคิดวางแผนการมีบุตร หรือผู้ที่มีบุคคลใกล้ชิดอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ขอให้ติดตามบทความนี้ครับ  อย่ามองข้ามความสำคัญของการนอนทั้งในระยะของการตั้งครรภ์ และระยะของการให้นมบุตรนะครับ ในบ้านเราข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์กับการนอนนั้นมีน้อยมาก โดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน ทั้งๆที่มีความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาวิจัยและมีความเข้าใจอาการหรือภาวะต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งแพทย์และตัวคุณแม่เองต่างไม่เห็นความสำคัญอีกทั้งยังมองข้ามความสำคัญนี้ไป ถ้าคุณผู้อ่าน (คุณแม่ที่ตั้งครรภ์) มีความเชื่อว่าการนอนที่ดีของลูกน้อย (หรือเด็ก) มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ผมจะขอแนะนำให้เชื่อต่อไปอีกนิดว่า
  “การนอนที่ดีของแม่ที่ตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกในครรภ์นอนหลับได้ดี และเมื่อลูกในครรภ์นอนหลับได้ดี ก็จะทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ดีขึ้นด้วย”
 ผมเชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าการนอนที่ดีในขณะตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกในครรภ์เติบโตดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องจริงและควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นใช่มั๊ยครับ  อย่าลืมนะครับว่าการเจริญเติบโตของลูก โดยเฉพาะระบบประสาทจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแล้วครับ  นี่ยังไม่นับรวมถึงความน่าจะเป็นที่กำลังพิสูจน์ในสมัยใหม่นะครับที่ว่า โรคเรื้อรังทั้งหลายในผู้ใหญ่ปัจจุบันนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ หยุดหายใจขณะหลับ ต่างมีผลมาจากความผิดปกติของบุคคลตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่เลยทีเดียวครับ (in utero programming หรือ developmental origin theory)  ซึ่งไม่ใช่แค่ปัจจัยจากการใช้ชีวิตตอนโต (environmental factors) เท่านั้น ดังนั้นผมขอกล่าวสรุปว่าการนอนที่ผิดปกติของแม่ในขณะที่ตั้งครรภ์ จะส่งผลทำให้ลูกในครรภ์มีภาวะการนอนหลับที่ไม่ดี และเมื่อลูกในครรภ์นอนหลับได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของร่างกายและสมองผิดปกติไปด้วยเช่นเดียวกัน ”

ในระหว่างการตั้งครรภ์การนอนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
     การตั้งครรภ์จะมีผลอย่างมากต่อการนอนครับ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการนอนกับการตั้งครรภ์เริ่มมีมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เองครับ ในการตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนหลัก 3 ชนิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคือ โปรเจสโตโรน (progesterone) เอสโตรเจน (estrogen) รีแลกซีน (relexin) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดนี้ต่างมีผลต่อการนอนทั้งสิ้นครับ จะสังเกตเห็นได้ว่าธรรมชาติของแม่หรือหญิงตั้งครรภ์มักจะนอนมากกว่าปกติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสโตโรน (progesterone) ครับ  
เมื่อผู้หญิงมีการตั้งครรภ์ การหายใจและระบบทางเดินหายใจของคุณผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เริ่มจากแม่ที่ตั้งครรภจะหายใจแรงขึ้นจากการกระตุ้นศูนย์หายใจ (respiratory center) ของฮอร์โมนโปรเจสโตโรน ( progesterone ) จมูกและโพรงจมูกของแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีอาการบวมและขยายขนาดมากขึ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ส่วนฮอร์โมนที่สำคัญอีกตัวคือ รีแรกซีน (relaxin) จะเป็นตัวทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นตามข้อต่าง ๆ หย่อนยาน รวมไปถึงกล้ามเนื้อที่ควบคุมระยะทางเดินหายใจด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตัน (upper air way obstruction) ครับ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบ ได้บ่อยมากว่าคนท้องนอนกรนในขณะหลับ (snoring) และเมื่อมีอายุครรภ์มากขึ้นภาวะการกรนนี้จะแย่ลงเรื่อย ๆ จากการศึกษาพบว่าประมาณ 1 ใน 10 ของคนที่ตั้งครรภ์จะนอนกรนครับ และตัวเลขจะสูงมากเป็น 1 ใน 3 ของคนที่ตั้งครรภ์ในระยะท้าย ๆ นอกจากนี้ภาวะทางเดินหายใจอุดตันก็เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งความรุนแรงของการหยุดหายใจขณะหลับในแม่ที่ตั้งครรภ์ จะใช้เกณฑ์เดียวกับคนปกติไม่ได้ครับ เพราะการอุดกั้นทางเดินหายใจที่พบได้มากจะออกมาในรูปของการอุดกั้นเล็กน้อย (partial) ในคนปกติอาจถือว่ายังไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหามากๆที่เดียวครับสำหรับหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนั้นบางรายก็อาจพบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจหมดเลยหรือหยุดหายใจไปเลยก็เป็นได้
การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจก็มีการเปลี่ยนแปลง การตั้งครรภ์ในขณะปกติเมื่อตั้งครรภ์ รกและเส้นเลือดทั่วร่างกายจะขยายตัว (dilatation) จากการทำงานของฮอร์โมน relaxin และทำให้ความต้านทาน (resistance) โดยรวมของระบบไหลเวียนโลหิตลดลงครับ แม่ที่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องควบคุมความดันให้คงที่โดยการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นและมีภาวะบวมน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในแม่ที่นอนหลับความต้านทานโดยรวมจะยิ่งลดลงไปอีกด้วย ระบบประสาทอัตโนมัติ parasympathetic จะทำงาน ผลคือขณะนอนหลับความดันโลหิตจะยิ่งลดลงไปครับ และการนอนหงายมดลูกจะกดเส้นเลือดดำในช่องท้อง ทำให้เลือดอาจไหลสู่หัวใจลดลง ถึงแม้ว่าแม่ส่วนใหญ่จะทราบกันดีครับว่าเวลานอนควรนอนตะแคงขวา แต่ที่แน่ ๆ คงไม่มีใครนอนตะแคงขวาได้ตลอดเวลาหรอกจริงมั๊ยครับ จึงทำให้ไม่สามารถเลี่ยงปัญหาได้ ซึ่งเราศึกษาพบว่าประมาณ 1 ใน 10 ของเวลานอนทั้งหมดของแม่ที่นอนหลับ ความดันโลหิตอาจตกลงมาต่ำถึง 80/40 มมปรอทครับ และในภาวะที่ผิดปกติ เช่น  ความดันสูงในแม่ที่ตั้งครรภ์จากครรภ์เป็นพิษ  เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดของรกจะทำให้แม่มีความดันโลหิตสูงนั่นเอง ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์เร็ว ๆ นี้พบว่าแม่ที่มีความดันโลหิตสูงมาก มักจะมีภาวะนอนกรน และมีทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นบางส่วน (partial upper airway obstruction) ทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซ (CO2)  คั่งในเลือด ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ sympathetic ทำงาน (แทนที่จะเป็น parasympathetic )

ปัญหาการนอนของแม่ระหว่างตั้งครรภ์
    การตั้งครรภ์มีผลต่อการนอนอย่างมาก ไม่ใช่เป็นเพราะการทำงานของนาฬิกาชีวิตที่ผิดปกติหรอกครับ  แต่การนอนปกติของหญิงตั้งครรภ์จะถูกขัดขวางไปด้วยสาเหตุต่างๆที่ผมจะกล่าวต่อไป ซึ่งผมมักจะเจอคำถามมากมายในหญิงตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่มักรายงานว่ามีปัญหา เรื่องอ่อนล้า เพลียในตอนกลางวัน (fatigue) ต้องการที่จะนอนมากขึ้น (sleepiness) หรือนอนไม่หลับ  (insomnia)  และที่อาจคาดไม่ถึงคือการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ไม่ดี ไปจนถึงน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (intrauterine growth retardation, IUGR)  รวมถึงความดันโลหิตสูง ถ้าแม่มีภาวะนอนกรน (snoring)  และหยุดหายใจร่วมด้วย (sleep apnea) เป็นต้น
     ปัญหาเรื่องอ่อนล้าและเพลียในตอนกลางวัน (fatigue) มีอาการง่วงต้องการที่จะนอนมากขึ้น (sleepiness) นอนไม่หลับ  (insomnia)  สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และแตกต่างกันไปในระยะของการตั้งครรภ์  ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์แม่จะง่วงนอนมาก นอนมากกว่าปกติ แต่จะหลับไม่ลึก (เป็นผลจากฮอร์โมนโปรเจสโตโรนโดยตรง) ไม่ค่อยมีอาการฝัน หรือหลับตื้นนั่นเอง  (เป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน )   ในระยะ 3 เดือนต่อมาการนอนอาจกลับสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อเข้า 3 เดือนท้ายของการตั้งครรภ์ มดลูกที่ใหญ่ขึ้นตามขนาดของเด็กในครรภ์ทำให้มีผลต่อการนอน  โดยปกติแม่มักจะมีคุณภาพในการนอนแย่ลงครับ ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะทราบดีว่าตัวเองนอนไม่พอ นอนหลับไม่ค่อยลึก และตื่นบ่อยครับ ในบางคนพบว่าการนอนบางท่านั้นจะทำไม่ได้เลย ท่านอนจะเป็นปัญหามากสำหรับหญิงท้องแก่  ปัญหาจะเกิดมากมาย เนื่องมาจากการไม่สบายตัวครับ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง ลูกในท้องดิ้น เป็นตะคริวที่ขา ต้องลุกขยับตัวบ่อย แน่นหน้าอก แสบหน้าอกจากภาวะกรดไหลย้อน มดลูกหดตัวเป็นระยะ ๆ  แม่ที่มีภาวะบางอย่างของการนอนที่ผิดปกติอยู่แล้ว เช่น ภาวะขากระตุก (restless leg) นอนกรน (snoring) จะทำให้อาการที่ผิดปกติอยู่แล้วนั้นแย่ลงไปอีก แม้ว่าภาวะนอนกรนจะพบบ่อยในคนท้องระยะท้าย (30%) แต่ในรายที่มีภาวะหยุดหายใจชัดเจนเราพบได้น้อยครับ ยังไม่ต้องเป็นกังวล ในส่วนใหญ่แม่ที่ตั้งครรภ์จะนอนกรนและมีทางเดินหายใจอุดกั้นบางส่วนเท่านั้น (partial upper airway obstruction)  สิ่งสำคัญที่ผมพยายามพูดถึงก็เพราะว่าในปัจจุบันนี้ แม้แต่ในแม่ที่มีภาวะหยุดหายใจรุนแรงก็ตาม ก็ยังถูกมองข้ามปัญหาไปครับ และโดยเฉพาะในแม่ที่มีปัญหาเพียงแค่นอนหลับไม่สนิทหรือนอนหลับไม่เพียงพอในระยะไตรมาสสามของการตั้งครรภ์จึงไม่แปลกที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ก็ยิ่งจะทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่มองไม่เห็นปัญหาด้วยซ้ำ แต่ความเป็นจริงแล้วปัญหาการนอนไม่เพียงพอนี้ นอกจากจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยแล้วยังส่งผลโดยตรงทำให้ระยะเวลาในการคลอดยาวขึ้น (labor time) และแน่นอนทำให้การคลอดตามธรรมชาติมีปัญหา ส่งผลให้เกิดการผ่าตัดคลอดกันมากขึ้น (cesarean section) นั่นเอง

ปัญหาการนอนของแม่หลังคลอด
     แม่ที่ให้นมลูกหลังคลอด แน่นอนว่าในแม่ทุกรายที่ให้นมลูกเองนั้นจะต้องมีปัญหาการนอนไม่มากก็น้อย เพราะในการให้นมลูก (breast feeding) ต้องตื่นนอนบ่อย แม่จะมีอาการอ่อนล้ามาก เพราะอดนอน แต่เมื่อหลับก็จะหลับสนิทและหลับลึกมาก (deep sleep หรือ stage 3,4 ) นั่นคือในแม่หลังคลอดที่ให้นมลูกจะสามารถหลับได้ลึกมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้เป็นผลจากฮอร์โมน prolactin โดยตรงครับ ซึ่งสิ่งนี้เราจะไม่พบในแม่ที่ให้นมขวด (bottle feeding)  ภายหลังจากการคลอดแม่ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็อาจยังคงมีอาการอยู่ ส่วนในแม่ที่เคยมีอาการนอนกรนร่วมกับทางเดินหายใจอุดกั้นบางส่วนขณะตั้งครรภ์นั้นอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเองครับ  แต่ในรายที่หลังคลอดแล้วยังไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ยังมีปัญหาการนอนทำให้แม่เพลียมาก นอนไม่หลับ นอนไม่พอ อาจมีภาวะซึมเศร้า เมื่อลูกงอแงหลังคลอด (colic) ก็อาจเกิดภาวะทำร้ายทารุณกรรมเด็กได้

ผลของความผิดปกติของการหายใจในขณะหลับระหว่างตั้งครรภ์ 
     ความผิดปกติของการหายใจในขณะหลับถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยพอ ๆ กับโรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ แต่มักถูกมองข้ามไป ความผิดปกตินี้เป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ (30 %) และโรคอัมพาตสมอง (50%) ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวแต่เดิมเรามักเข้าใจกันว่าเป็นโรคที่พบได้มากในผู้ชาย แต่เร็ว ๆ นี้เองครับที่ความรู้ความเข้าใจเริ่มมีมากขึ้นและพบว่าภาวะนี้พบได้บ่อยมากในผู้หญิงปกติดีที่ตั้งครรภ์ และทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง ความผิดปกติจากการหายใจที่มีในหญิงตั้งครรภ์ จะมีลักษณะเฉพาะที่พบบ่อยคือ อุดกั้นเล็กน้อยเท่านั้น (partial  upper airway obstruction) ซึ่งจะสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูงของแม่