นัดพบแพทย์

รู้ทันโรคต้อหิน…ก่อนสายเกินแก้

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 1386

เป็นโรคของดวงตาที่พบบ่อย พบได้ทุกอายุ เป็นภาวะที่มีการเสื่อมของประสาทตาที่เพิ่มมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น โดยจะเริ่มสูญเสียการมองเห็นที่ขอบนอกของลานสายตา และมีอันตรายอย่างมากถึงขั้นตาบอดสนิท ถ้าไม่รักษาหรือรักษาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้น เป็นการสูญเสียถาวร ไม่สามารถจะแก้ไขให้คืนมาได้ โดยมากมักจะเป็น 2 ข้าง อาจจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งก่อน

ปัจจัยเสี่ยงของโรค

  • ความดันลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมและเปลี่ยนแปลงได้
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
  • โรคทางตาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ในดวงตา
  • โรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือคนไข้ที่มีโรคการไหลเวียนเลือดไม่ดี คนที่สายตาสั้น หรือยาวมากๆ
  • มีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาในกลุ่ม steroid

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโรคที่เป็นไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่มีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ต้อหินเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตามัว ตาแดงทันทีทันใด เมื่อมองแสงไฟจะเห็นรุ้งเป็นวงๆ อาการปวดจะปวดมากขึ้น จนคลื่นไส้อาเจียนและต้องมาโรงพยาบาล

ดังนั้นแพทย์จึงแนะให้มีการตรวจตาเป็นประจำ แนะนำว่า

  • ผู้ที่อายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคต้อหิน แต่ถ้าอาการปกติก็ให้ตรวจทุกๆ 1-2 ปี
  • สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองทุก 1 ปี
  • สำหรับท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหิน ควรได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 35 ปี

การตรวจคัดกรองต้อหิน

  • ตรวจความดันลูกตา
  • ตรวจขั้วประสาทตา
  • ตรวจลานสายตา

การรักษา

จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคต้อหิน คือ การยับยั้งไม่ให้มีอาการมากขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมา แต่สามารถยับยั้งไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ โดยลดระดับความดันตาให้อยู่ในระดับที่เส้นประสาทตาสามารถทนได้ มี 3 วิธีหลัก

1.การใช้ยา อาจเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทาน โดยผู้ป่วยควรจะใช้ยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์โดยเคร่งครัด

2.การใช้แสงเลเซอร์

3.การผ่าตัด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดเมื่อยาไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยขาดยาเป็นประจำจนทำให้ตาค่อยๆ มัวลง หรือผู้ป่วยบางรายอาจทนต่อผลข้างเคียงของยาหยอดตาไม่ได้

หมายเหตุ : อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคต้อหิน คือ การตรวจพบในระยะเริ่มแรก โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติในดวงตาหรือการมองเห็นก็ตาม

โดย : พญ. ปนียา ตปนียางกูร

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99/