นัดพบแพทย์

ลด-เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง! ช่วยได้

30 Aug 2016 เปิดอ่าน 1475

โรคข้อเสื่อม ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็มีโอกาสเกิดภาวะข้อเสื่อมได้ทั้งนั้น ซึ่งนับเป็นโรคหนึ่งที่รบกวนกิจวัตรประจำวันและส่งผลกระทบทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก!!

โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ จัดกิจกรรม “ร้อยสู่ 1,000 ปันข้อดี” เพื่อให้ความรู้และเทคนิคการดูแลสุขภาพ และโภชนาการหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและครอบครัว

รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคข้อเสื่อมว่า เป็นโรคของข้อที่เกิดกับกระดูกอ่อนและเยื่อหุ้มข้อซึ่งมีการสร้างเนื้อเยื่อจำนวนมาก โดยมากจะเกิดบริเวณข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อกระดูกต้นคอ ข้อกระดูกหลัง

“คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยพบประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะชีวิตประจำวันของคนไทยเราจะนิยมนั่งกับพื้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนั่งกับพื้นจะเกิดแรงกระทำที่จะทำกับข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า เช่น การลุกขึ้นยืน การนั่งลงกับพื้น การนั่งยอง ๆ หรือนั่งขัดสมาธิ ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดและแรงขัดสีมากส่งผลให้เสื่อมได้ง่ายขึ้นตามมาด้วย”

โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนมากกว่าเพศชาย รวมทั้งในปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดิม 60 กว่าปี เป็น 70 กว่าปี จึงทำให้อุบัติการณ์ของโรคพบในผู้หญิงมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย รวมทั้งในอดีตจะพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบเร็วขึ้นอายุประมาณ 45-50 ปี เนื่อง จากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานร่างกายที่ยืน ยาวมากขึ้น การใช้งานผิดประเภท เช่น การกระโดด แบกหามของหนักเป็นประจำ หรืออยู่ในท่าที่ต้องนั่งพับเพียบกับพื้น หรือในท่าที่ต้องงอพับเข่ามาก ๆ หรือการลงน้ำหนักมาก เช่น นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ การยืนหรือนั่งท่าเดียวนาน ๆ ไม่มีการเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่าอยู่เรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ข้อเสื่อมได้ง่าย

รวมทั้ง ภาวะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น เพราะแต่ละก้าวที่เราเดินและยืน เข่าต้องรับน้ำหนักของร่างกายไว้ทำให้เกิดแรงกดทับ ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเสื่อมได้ ซึ่งปกติเท้าจะรับน้ำหนักข้างละ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดินก็จะเพิ่มเป็น 1.5 เท่าของน้ำหนักตัว เมื่อวิ่งก็จะเป็น 3-5 เท่าของน้ำหนักตัว ยิ่งถ้ากระโดดก็จะเพิ่มเป็น 7 เท่าของน้ำหนักตัว ยิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงจะทำให้ข้อรับแรงกระทำมากขึ้นส่งผลให้ข้อสึกได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ โรคบางโรคทำให้ข้อสึกได้ง่าย เช่น โรคเก๊าต์ โรคไขข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อีกทั้งการประสบอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือจากการทำงาน นักกีฬาบางคนเมื่อได้รับการบาดเจ็บแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ข้อสึกเร็วได้เช่นกัน

สำหรับวิธีการรักษาสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยการรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มจากการให้คำแนะนำให้รู้ว่าคนไข้เป็นอะไร โรคข้อเสื่อมเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรจึงทำให้เกิดเป็นโรคขึ้นมาได้ และจะทำอย่างไรให้อยู่กับความเสื่อมนี้ได้อย่างเป็นปกติที่สุด ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมแล้วมีอาการถือว่าเป็นปัญหา หากเป็นแล้วแต่ไม่มีอาการก็ไม่นับว่ารุนแรง เช่น มีการผิดรูปบ้างแต่ถ้าไม่เจ็บสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติก็ไม่นับว่าเป็นปัญหา แต่ส่วนใหญ่เมื่อผิดรูป เช่น มีอาการโก่ง งอ มักจะมีอาการเจ็บตามมา

“สิ่งสำคัญในการรักษาโรคข้อเสื่อม คือ การลดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใหญ่หรือปัจจัยเล็ก ๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดความสึกของข้อ โดยเฉพาะน้ำหนักตัว ต้องพยายามควบคุม แพทย์มักจะบอกกับคนไข้ว่า ขอให้ไม่ขึ้นก็พอแล้วไม่ลงไม่เป็นไร แต่ถ้าลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยพยายามให้ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวภายใน 3 เดือน ซึ่งถ้าคนไข้มีความมุ่งมั่นก็สามารถที่จะทำได้”

อีกทั้งการออกกำลังกายซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีการดูแลรักษาข้อไม่ให้ทำงานหนัก ตลอดจนการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะทำให้ข้อต่าง ๆ ในร่างกายแข็งแรงขึ้นดีกว่าการรับประทานยาใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อรักษาตามแนวทางดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะต้องใช้ยา ที่รัดหัวเข่า และไม้เท้า ช่วยในการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงที่เกิดกับข้อได้ ในส่วนของยานั้นจะเป็นยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ ชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากคนไข้ไม่ไหวจริง ๆ โดยอาการของโรคเริ่มจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันก็จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด

ซึ่งวิธีนี้จะไม่แนะนำในการรักษาในช่วงแรก ยกเว้น ในคนไข้ที่ข้อมีการผิดรูปไปมาก รวมทั้ง สมรรถภาพ ในการใช้ข้อของคนไข้ลดลงไปเป็นอย่างมากเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติก็จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งจะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

โดยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้บริการการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมาแล้วกว่า 1,000 ราย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยระบบรับรองมาตรฐาน การดูแลผู้ป่วย (Clinical Care Program Certification หรือCCPC) จากองค์กร Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

“พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อข้อเสื่อม คือ การใช้ชีวิตกับพื้นเป็นส่วนใหญ่ การที่นั่งพับเพียบกับพื้น เพราะการจะลุกจะนั่งจะต้องมีช่วงที่ต้องพับเข่ามากทำให้น้ำหนักกดไปที่เข่า ส่วนช่วงที่จะลุกก็จะมีช่วงที่ต้องพับเข่ามากและมีแรงกดที่เข่าเช่นกันก่อนที่จะลุกขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตประจำวันมีการใช้เข่ามาก มีแรงกระทำกับเข่ามาก ยิ่งอยู่ในท่านั้นนาน ๆ ก็จะต้องใช้มาก”

ด้านสัญญาณเตือนเกี่ยวกับเรื่องข้อ รศ.นพ.กีรติ กล่าวว่า ร่างกายเราจะมีสัญญาณเตือนภัยเป็นประจำถ้ามีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ความเจ็บปวด บวมแดง หากปกติเราก็ไม่เป็นอะไรแต่เมื่อไรที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเพราะอะไร การเหยียดงอของข้อทำได้ลดลง รวมทั้ง มีไข้ ตัวร้อน ไม่สบาย มีเสียงจากปกติไม่มีเสียงหรือมีความรู้สึกว่ากระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหวข้อจำเป็นต้องหาสาเหตุให้ได้ ถ้าเป็นชั่วคราวก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นแล้วเป็นอีก หรือเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ควรรีบพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย ดูแล ให้คำแนะนำและรักษาต่อไป

อยากให้ใส่ใจในสุขภาพ ดูแลร่างกายกันตั้งแต่เนิ่น ๆ หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำ เสมอ ยาที่ดีที่สุด คือ การออกกำลังกาย โดยกีฬาที่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคข้อจะเป็นกีฬาประเภทที่ไม่มีการกระแทกแรง ๆ เช่น ขี่จักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ เล่นแอโรบิกช้า ๆ รำไทเก็ก ส่วนกีฬาที่ไม่เหมาะ คือ กีฬาที่มีการกระแทกมาก ๆ เช่น กระโดด วิ่งแรง ๆ

“สมัยก่อนเมื่อเกิดโรคข้อเสื่อมขึ้นคนไข้มักจะเพิกเฉยไม่สนใจที่จะเข้ารับการรักษากันมากนัก เนื่องจากคิดว่าอายุมากแล้วก็เป็นธรรมดาที่อวัยวะต่าง ๆ จะเสื่อมลง แต่ปัจจุบันคนไข้ไม่ได้คิดเช่นนั้น โดยมีความคิดว่าจะต้องอยู่ใช้ชีวิตให้นานที่สุดและจะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพด้วย ซึ่งทัศนคติที่จะอยู่อย่างมีคุณภาพและยืนยาวนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยโรคบางโรคทำให้คุณภาพชีวิตลดลงซึ่งโรคข้อเสื่อมก็เป็นโรคหนึ่งเพราะเมื่อไรที่ข้อเสื่อมได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้คนไข้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงทำให้โรคนี้ได้รับการใส่ใจและมองเห็นถึงคุณค่าของการรักษามากขึ้น”

* ขอบคุณข้อมูลจาก : dailynews.co.th