เห็นเด็กวัยรุ่นสมัยนี้สูงยาวเข่าดีกันไม่น้อย แต่พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยแอบกังวลว่าลูกไม่สูง อะไรคือตัวกำหนดและส่งเสริมเรื่องความสูงของลูกกัน?
แท้จริงแล้ว พันธุกรรมรูปร่างของพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของลูกหลาน แต่ระหว่างการเติบโต ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่จะส่งเสริมหรือบั่นทอนความสูงของเด็ก ๆ ได้ เช่น...สภาวะแวดล้อม สุขภาพ อาหารการกิน และการออกกำลังกาย ทั้งหมดที่ว่าต้องเป็นไปอย่างสมดุลพอดี ขาดเกินส่วนใดส่วนหนึ่งก็ส่งผลต่อความสูงได้
เครียดได้...ก็เตี้ยได้
การที่ลูกเครียดเหลือเกิน เรียนหนัก การบ้านเยอะ นอนก็ไม่หลับสนิท อาหารก็กินบ้างไม่กินบ้าง อย่างนี้ก็เป็นตัวสกัดดาวรุ่งมุ่งความสูงแน่ๆ เพราะเด็ก ๆ วัยเจริญเติบโต อาหารทุกมื้อสำคัญเท่ากัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือมื้อเช้า ทั้งเป็นมื้อที่พ่อแม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้ว่าจะให้ลูกได้กินแป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ น้ำ มากน้อยแค่ไหน
เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบไปจน 15 ปี หรือวัยเด็กตอนปลายต่อวัยรุ่นตอนต้นจะเจริญเติบโต หรือสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่าที่ผ่าน ๆ มา คาร์โบไฮเดรต ข้าวและอาหารพวกแป้งยังคงจำเป็น ควรได้ถึง 50-55 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวัน โปรตีน 15-20 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 25-30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งผักผลไม้ที่ให้วิตามินเกลือแร่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน
ลดอาหารทอด ฟาสท์ฟู้ด เพราะในระยะยาวแล้วมีผลเสียมากกว่าผลดี
สาวสูงก่อน หนุ่มสูงทีหลัง
ช่วงเวลาเติบโตระยะสุดท้าย 3-5 ปีของวัยรุ่นตอนต้น เด็กชายหญิงจะสลับวัยกันสูง สาวน้อยจะโตเร็วในสองปีแรก ก่อนที่จะมีประจำเดือน พอ 2-3 ปีหลังจะชลอลง ในขณะที่หนุ่มน้อยจะโตช้าในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นจึงโตอย่างสม่ำเสมอ ใน 3-4 ปีหลัง และก็มีไม่น้อยที่จะสูงแบบทะลึ่งพรวดในช่วงวัยรุ่นตอนต้น
การเจริญเติบโตช่วงนี้จะมีฮอร์โมนเพศ และ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต เข้ามามีส่วนด้วย โดยที่การออกกำลังกายและการกินอาหารในปริมาณที่มากพอ ยังคงเป็นหลักสำคัญ
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องโน้มน้าวกันดี ๆ ว่าถ้าลูกรักอยากสวยงามหล่อเหลาสูงสง่าในอนาคต ลูกก็ต้องไม่อดอาหารจนผอมแห้งเกินไป เด็กต้องรับรู้เข้าใจว่า การอดอาหารนั้นส่งผลต่อความสูง...หรือมีผลให้เตี้ยได้ เพราะการที่จะสูงได้ ร่างกายต้องได้รับสารอาหารเต็มที่ น้ำหนักต้องเพิ่มก่อน และ ร่างกายของวัยรุ่นนั้น ควรเจริญเติบโตตามวัย ด้วยการกินอาหาร ไม่ใช่ยา วิตามิน หรืออาหารเสริม
สูงด้วยฮอร์โมน
พูดถึงฮอร์โมนเพศที่มีส่วนในการเจริญเติบโตของเด็กๆ มีการค้นพบว่า ไขมันในร่างกายมีส่วนสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของระบบฮอร์โมนเพศ เด็กหญิงรูปร่างท้วมเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กหญิงรูปร่างผอม และเด็กไทยปัจจุบันก็เข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่ายุคก่อน เด็กหญิง 8 ขวบ หรือเด็กชาย 9 ขวบบางบ้านก็เป็นวัยรุ่นได้เช่นกัน
สำหรับพ่อแม่ ๆ กำลังคิดพาลูกไปฉีดยาให้สูงนั้น ถ้าหมายถึงการใช้ฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่สกัดมาจากต่อมใต้สมอง ใช้ฉีดให้คนที่ไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว คุณหมอวิเคราะห์แล้วว่าขาดแน่ ก็ใช้ยาได้
แล้วถ้าอยากให้ลูกสูงล่ะ จะฉีดดีไหม
ตรงนี้มีข้อชวนคิดว่า การฉีดดังกล่าวอาจเร่งการสูงได้จริงในช่วง 2-3 ปี ต่อ จากนั้นเมื่อหยุดยา ความสูงก็จะช้ากว่าปกติที่สูงตามธรรมชาติ ณ วัยนั้น หรือบางคน พอไม่มียากระตุ้น ก็เลยหยุดสูงเองตามธรรมชาติ เฉลี่ยออกมาแล้วก็เลยไม่ได้สูงมาก น้อยไปกว่าไม่ฉีดสักเท่าไหร่
ที่สำคัญ การพาลูกไปฉีดยาทุกวันๆ อาจทำให้เขารู้สึกว่า ป่วย ก็ได้ รวมทั้งยังเป็นการเร่งสปีดความสูงเป็นเรื่องของทางกาย ทุกวันนี้ เราเร่งเด็กๆทางกายกันมากจน ลืมเรื่องทางใจ หรืออารมณ์ ความรู้สึก ความถนัด
ลองนึกภาพลูก ๆ สูงใหญ่เป็นสาวเต็มตัว เป็นหนุ่มเต็มร้อย แต่การพูดคุยปฏิบัติตน ยังพัฒนาไม่ทันความสูง...แบบนี้คุณหมอช่วยไม่ได้ แต่พ่อแม่ช่วยลูกให้สูงได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่โดย :
ส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
สุขภาพกายที่ดีเกิดจากการกินอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ การได้วิ่ง เล่นออกกำลังในที่โล่งแจ้ง อากาศดี สุขภาพจิตที่ดีเกิดจากการไม่ถูกกดดันในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ไม่เครียดกับการเรียนมากเกินไป มีพ่อแม่ช่วยดูแลการบ้าน สอบถามเรื่องเพื่อน เรื่องเรียนตามสมควร
การพักผ่อนนอนหลับก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะโกวธ์ ฮอร์โมน(growth hormone) ทำงานตอนเด็ก ๆ นอนหลับ การปล่้อยให้ลูกทำการบ้านหรือเล่นเน็ตจนดึกดื่นโดยไม่ช่วยจัดเวลาให้ ก็อาจทำให้ลูกไม่สูงได้
สูง ไม่ได้แปลว่าสำเร็จเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี สาเหตุบางอย่างอาจทำให้แก้ไขได้ยาก นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะความสูงไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิต คนสูงเด่นที่เกเรไร้ระเบียบ ไม่พัฒนาสติปัญญาและคุณธรรมในสมอง ไม่ได้หมายความว่าความสูงจะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในทางตรงข้าม คนตัวเล็กที่มีคุณธรรม มีวินัย มีการพัฒนาสติปัญญา ก็สามารถก้าวหน้า มีความมั่นคงถาวรในชีวิต
สอนให้ลูกมั่นใจในตนเอง กังวลเรื่องความสูงให้น้อยลง หาจุดเด่นจุดดีในตัวลูก และสร้างกำลังใจให้เขา ทำได้แบบนี้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ยังผลให้ลูกเจริญเติบโตตาม วัย ไม่เครียดกังวลเรื่องสูง ๆ เตี้ย ๆ เมื่อทำไม่สนใจได้แล้ว เวลาผ่านไป เราอาจแปลกใจก็ได้ เมื่อพบว่า ลูกเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเสียอีก
โดย รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.momypedia.com/pages/preview/momy_article_print.php?id=284