นัดพบแพทย์

สะโพกหักเพราะกระดูกพรุน

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 3379

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การหักของสะโพก ถ้าหักเมื่อไหร่ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตในหนึ่งปีจากโรคแทรกซ้อน แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไม่สามารถที่จะทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ”

 ทำไมผู้หญิงถึงมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากคะ ส่วนใหญ่จะมีภาวะกระดูกพรุนบริเวณส่วนใดของร่างกาย และสาเหตุเกิดจากปัจจัยใดเป็นสำคัญ
“โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะความผิดปกติของกระดูกที่มีการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกมีโอกาสหักได้ง่าย โดยผู้หญิงไทยที่อายุ 40 ปี ขึ้นไปจะมีปัญหากระดูกบางหรือพรุนโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก เอว ข้อมือ และกระดูกต้นแขนบริเวณหัวไหล่ ถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
...ปัจจุบันคนไทย 1 ใน 3 เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน และมีแนวโน้มความรุนแรงของภาวะโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ความชุกของโรคกระดูกพรุนที่ตำแหน่งกระดูกสะโพก 13.6 เปอรเซ็นต์ และที่กระดูกสันหลัง 19.8 เปอร์เซ็นต์ โดยพบในสตรีที่ย่างเข้าสู่วัยทองมีภาวะกระดูกพรุนที่สะโพกจำนวนสูงถึง 909,000 คน และอีกกว่า 1.3 ล้านคน มีภาวะกระดูกพรุนที่กระดูกสันหลัง 1 ใน 3 ของผู้ที่เกิดกระดูกสะโพกหักจะเสียชีวิต ซึ่งจัดเป็นอันดับ 6 ของสาเหตุการเสียชีวิตในผู้หญิงไทย
...ทั้งนี้เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกส่วน โดยเฉพาะแคลเซียม และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็มีผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน”
ภาวะกระดูกพรุนมีอันตรายมากน้อยเพียงใด ควรทำอย่างไรเพื่อป้องกัน ต้องรับประทานพวกแคลเซียมหรืออาหารจำพวกใดเป็นพิเศษหรือไม่ 
“โรคกระดูกพรุนเปรียบเสมือนมฤตยูเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยทั่วไปจะไม่มีอาการแสดงออก ผู้ป่วยจึงมองข้ามไม่ได้ใส่ใจที่จะป้องกันและดูแลรักษา กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อกระดูกเกิดการหักแล้ว และอาจนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ หรือว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว และเป็นภาระของสังคมต่อไป
...สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การหักของสะโพก ถ้าหักเมื่อไหร่ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตในหนึ่งปีจากโรคแทรกซ้อน แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไม่สามารถที่จะทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เคยเดินได้มาเดินไม่ได้ อยากจะไปไหนต้องใช้รถเข็น เป็นชีวิตที่ไม่น่าอยู่ ไม่น่ามีความสุขเท่าไหร่นะครับ
...ฉะนั้น ถ้าเรารู้จักการป้องกันกระดูกของเราตั้งแต่วันนี้ในวัยหนุ่มสาวจะทำให้เราอายุยืนขึ้น เราจะได้ใช้กระดูกของเราจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต มันน่าจะดีกว่าการที่เราเป็นคนพิการจากกระดูกพรุน ซึ่งทำได้ง่ายๆ ไม่ยาก เพียงรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายที่กดน้ำหนักลงบนกระดูกอย่างสม่ำเสมอ งดปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายกระดูก อาทิ งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการได้รับโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอยู่ที่ 1,000-1,500 มิลลิกรัม ในขณะที่คนไทยได้รับเพียง 400 มิลลิกรัม ต่อวันโดยเฉลี่ยจากอาหาร
...โครงสร้างกระดูกที่แข็งแรงจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างอิสระ สามารถเดินเหินได้คล่องแคล่ว ไม่ต้องจำกัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวไปมา การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง”

รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกพรุน
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://motherandchild.in.th/content/view/1214/113/