ลุกก็โอย...นั่งก็โอย ดูจะเป็นอาการของคนที่อายุเริ่มมากขึ้น โดยอวัยวะที่มักมีอาการปวดบวมส่วนใหญ่ มักเป็นบริเวณข้อที่ใช้รับน้ำหนักมากหรือเคลื่อนไหวมากเช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูคอ แต่ที่มากที่สุด เห็นจะเป็นข้อเข่า ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการกดกระแทกอยู่เป็นประจำส่วน ข้อสะโพกก็เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายในขณะยืน เดิน วิ่ง นั่งและนอนที่หากผ่านการใช้งานนานๆอาจเกิดการสึกหรอได้
อาการขอโรคข้อเสื่อมที่พบบ่อย คือ มีอาการปวดตามข้อบริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ หลัง เอว แขน มือ เข่า และเท้า มีเสียงหรือเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อ มีอาการบวมแดงร้อนบริเวณข้อ รู้สึกขัด ตึง หรือเจ็บปวดบริเวณข้อ เมื่อปรับเปลี่ยนท่าหลังจากอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งคุกเข่าหรือขัดสมาธิ มีอาการปวดข้อ ตึง หรือขัด แบบเป็นๆหายๆ
นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผอ.ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพหรือ "Bangkok Hip & Knee Center" โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ในกรณีของข้อเข่าหากมีอาการมาก บางคนถึงขั้นเดินกะเผลก ข้อเข่าโก่ง เดินขัดๆในบางรายเวลาเคลื่อนไหวเข่าจะได้ยินเสียงกระดูกลั่น หรือบางครั้งถ้ามีอาการมาก อาจรู้สึกร้อน บวม และปวดมากขึ้น
"สาเหตุหลักของโรคข้อเข่าเสื่อมมาจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนบุข้อ ที่เกิดจากการใช้งานหนักเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของข้อต่อตามอายุและการใช้งาน ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ"
ส่วนข้อสะโพกเสื่อม คุณหมอวัลลภ บอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานมานาน กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน
"โรคข้อสะโพกเสื่อมนี้ มีข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งคือ บางครั้งเมื่อเป็นแล้วยากแก่การแยกอาการของโรค เพราะอาการปวดที่บริเวณสะโพกด้านหลังคล้ายคลึงกับโรคปวดหลังผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ว่ากำลังป่วยด้วยโรคข้อสะโพกเสื่อม ทำให้ได้รับการรักษาไม่ตรงจุดจนโรคเรื้อรังและยากต่อการรักษา"
ผอ.ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพบอกพร้อมกับอธิบายว่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบปัญหากระดูกสะโพกหักได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเวลาที่หกล้ม ขณะที่ในวัยกลางคนจะพบปัญหาข้อกระดูกสะโพกเสื่อมในกลุ่มที่มีการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดีไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกซึ่งยื่นขึ้นไปด้านบนได้เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย คุณหมอวัลลภบอกว่า อาการปวดสะโพกมีสาเหตุหลายอย่าง
ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินในระยะไกลได้ เพราะปวดถ่วงที่บริเวณก้นและต้นขาด้านหลังซึ่งในกรณีนี้อาจมีสาเหตุจากช่องทางเดินของเส้นประสาทในกระดูกสันหลังแคบลงกว่าปกติมาก ทำให้หลอดเลือดที่ถุงเส้นประสาทและเส้นประสาทถูกบีบรัดซึ่งแตกต่างจากอาการปวดที่สะโพกเพราะมักจะปวดบริเวณง่ามขาด้านหน้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ปวดพร้อมกันทั้งสองข้างเหมือนโรคกระดูกสันหลัง ที่สำคัญสามารถปวดในเข่าด้านในโดยเกือบไม่รู้สึกปวดที่สะโพกเลยซึ่งอาการเหล่านี้จะรู้ได้ก็เมื่อหมั่นสังเกตอาการตัวเอง และสงสัยว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
ผอ.ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพยังบอกอีกว่า การผ่าตัดเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้รับการยอมรับและโดยทั่วไปแล้วเมื่อได้รับการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาข้อสะโพกและข้อเข่ามาแล้วยังมีอาการปวดอยู่และเข้าใจผิดไปว่าการปวดเกิดจากการผ่าตัด
"เมื่อมีอาการปวดหลังผ่าตัดสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ แยกว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากข้อที่รับการผ่าตัดหรือไม่หรือเกิดจากโรคที่จุดอื่นใกล้เคียงกับบริเวณข้อที่ผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่สะโพกและขาได้" คุณหมอวัลลภบอก พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่ายอกจากข้อแล้ว ในร่างกายคนเรายังมีระบบเส้นประสาทซึ่งระบบเส้นประสาทของร่างกายมนุษย์หากเป็นโรคที่สะโพก ระบบประสาทปลายจะวิ่งไปที่เข่า แต่ต้นตอของโรคอยู่ที่สะโพก หรือหลังรับการผ่าตัดข้อเข่า ก็มีความเป้นไปได้ที่จะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นรอบข้อที่ผ่าตัดแต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากภายในข้อก็เป็นได้
หากตรวจพบก่อนก็สามารถแก้ไขลดความเจ็บปวดทรมานลงได้
คุณหมอวัลลภ ยังบอกด้วยว่าอาการที่ผู้ป่วยควรทราบหลังรับการผ่าตัดรักษาแล้ว คือ อาาจมีอาการบวมตึงอุ่นๆปวดบ้างนานประมาณ 3-6 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะยุบบวมกลับมาปกติใน 2-3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่บริหารฟื้นฟูข้อตามคำแนะนำอย่างดีจะฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็ว ที่เห็นชัดเจนคือ เดินได้โดยไม่เจ็บ มีกำลังมากขึ้น งอเหยียดเข่าได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดสะโพกควรระวังตัวไม่เคลื่อนไหวข้อสะโพกมากเกินไปจนทำให้ข้อสะโพกหลุดออกจากเบ้า เช่น ระวังไม่นั่งต่ำจนเกินไป ระวังไม่งอสะโพกชันเข่าเกิน 90 องศา ไม่บิดเข่าและปลายเท้าเข้าด้านในหรือนอกมากเกินไป ควรนอนอยู่บนเตียงแล้วบิดตัวท่อนบนไปอีกทาง จะช่วยลดอาการปวดและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรใส่ใจ คือ อย่าละเลยอาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก ซึ่งเป็นอวัยวะที่รองรับการทรงตัวของร่างกาย เมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อถนอมรักษาข้อเข่า ข้อสะโพกให้อยู่กับเราไปได้นานที่สุด.
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news2.php?names=05&news_id=8136