เมื่อแรกลืมตาดูโลก เจ้าตัวเล็กก็ออกมาพร้อมเสียงร้องจ้า... จากนั้นเสียงร้องก็ยังอยู่คู่ลูกน้อยมาตลอด เพียงแต่ว่าเสียงร้องแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไป จึงเป็นที่มาของความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่กันนักต่อนัก ด้วยไม่รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไร เมื่อได้ยินเสียงร้องของลูกจริงๆ แล้ว การร้องไห้ของลูกเป็นวิธีสื่อสารให้พ่อแม่ได้รู้ความต้องการของเขา นั่นเพราะเขายังพูดบอกความต้องการไม่ได้ จึงต้องอาศัยเสียงร้องนี่แหละ ช่วยสื่อสารแทน
การเรียนรู้ความต้องการของลูกจากเสียงร้อง จะช่วยให้คุณแม่สามารถเลี้ยงดูและตอบสนองความต้องการของลูกน้อยอย่างรู้ใจที่สุดค่ะ
• หนูหิวแล้ว
เมื่อลูกร้องสั้นๆ ถี่ๆ เสียงไม่สูงแบบนี้ รีบให้นมลูก แล้วลูกจะเงียบเสียงโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว
• แม่จ๋า..หนูเจ็บ
เมื่อลูกร้องเสียงแหลมและดังแบบทันทีทันใด แสดงว่า อาจจะมีมด แมลง รบกวนลูก ต้องรีบหาสาเหตุ และช่วยเหลือลูกทันที
• เฉอะแฉะ ไม่สบายตัว
ลูกจะร้องไห้เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งมีอาการขยุกขยิก แบบนี้..ถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้วค่ะ
• หนูง่วงแล้วนะ
ถ้าเจ้าตัวเล็กเริ่มใช้มือขยี้หน้าขยี้ตาล่ะก็ พาเข้าไปนอนได้เลย
• หนูเหงา
เจ้าตัวเล็กจะส่งเสียงร้องเหมือนตะโกนเป็นระดับเดียวกัน และจะหายโดยฉับพลัน ถ้ามีเพื่อนเล่น เห็นแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ลองเข้าไปชวนพูดคุยหรือเล่นกับลูกนะคะ เสียงร้องก็จะหายไปเอง
• ร้องแบบนี้ หนูไม่สบาย
ลูกจะร้องโยเยพร้อมกับอาการง่วงซึม ควรรีบตรวจดูว่า ลูกเป็นอะไร พร้อมกับให้การดูแลอย่างถูกต้อง หรือหากเป็นมาก ก็ต้องพาไปพบแพทย์
• ร้องโคลิก
ลูกจะร้องไห้เสียงแหลมเวลาเดียวกันทุกวัน นาน 2 – 3 ชั่วโมงไม่หยุด โดยเฉพาะเวลา 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาหลังจากมื้ออาหารไปแล้วครึ่งชั่วโมงเป็นเวลาเดิมทุกวัน นั่นหมายความว่า ลูกไม่ได้หิวนม ข้อแนะนำในการดูแลทารกที่มีอาการโคลิก ได้แก่ การสร้างบรรยากาศในการเลี้ยงดูให้สงบ อุ้มทารกเมื่อมีอาการ โดยพยายามสังเกตว่ามีอะไรที่ทำให้ทารกไม่สบายตัว เช่น ผ้าอ้อมเปียก อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ให้อาหารไม่มากหรือน้อยเกินไป สังเกตอาการหิวของทารก และให้นมตามที่ต้องการ แต่ถ้าลูกมีการร้องไหที่รุนแรง แผดเสียง กำหมัดแน่น หน้าแดง ขางอขึ้น หดเกร็งเวลาร้อง ควรพาไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ อาการโคลิก มันจะเกิดขึ้นเมื่อลูกมีอายุประมาณ 2 สัปดาห์และจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในอายุ 4 เดือน
รู้สัญญาณการร้องของลูกแล้ว คราวนี้ไม่ว่าลูกจะร้องไห้แบบไหน ก็ไม่กังวล เพราะคุณแม่รับมือได้อย่างแน่นอน
* ขอบคุณข้อมูลจาก:
1.รศ.นพ.ประพันธ์ อ่านเปรื่อง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=568)
2.โรงพยาบาลยันฮี