นัดพบแพทย์

เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder)

30 Jan 2017 เปิดอ่าน 5308

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder : ADD) คือกลุ่มความผิดปกติทางพฤติกรรมที่มีอาการสมาธิส้น ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการซุกซน อยู่ไม่นิ่ง หรือหุนหันพลันแล่น ด้วยก็ได้ โดยอาการต่างๆ ต้องเริ่มเป็นก่อนอายุ 7 ปี และเป็นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และมีความรุนแรงมากจนก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตประจำวัน การเรียน หรือ การงาน การเข้าสังคม หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยความผิดปกติดังกล่าวพบถึงร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน

เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น อาจมี (ก) หรือ (ข) อย่างน้อย 6 ข้อ

(ก) อาการขาดสมาธิ

  1. ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ
  2. ไม่มีสมาธิ
  3. ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาคนอื่นพูดด้วย
  4. ทำงานผิดพลาด หรือผิดคำสั่ง เพราะไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดได้
  5. ไม่ค่อยมีระเบียบ
  6. พยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้สมาธิ
  7. วอกแวกง่าย
  8. ทำของใช้หายบ่อยๆ
  9. ขี้ลืม

(ข) อาการอยู่ไม่นิ่ง / หุนหันพลันแล่น

  1. ยุกยิกอยู่ไม่นิ่ง
  2. เคลื่อนไหวบ่อยๆ ไม่อยู่กับที่
  3. ชอบวิ่งหรือปีนป่าย
  4. พูดมาก
  5. เล่นเสียงดัง
  6. ตื่นเต้นง่าย
  7. มักชิงตอบคำถาม ก่อนที่จะฟังคำตอบจบ
  8. รอคอยไม่ได้
  9. มักพูดแทรก ขัดจังหวะในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูด

ข้อสังเกต

กิจกรรมบางอย่างที่เด็กชอบหรือดึงดูดความสนใจของเด็กได้นานๆ โดยไม่ต้องสร้างสมาธิขึ้นมาเอง เช่นการดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกมส์ ไม่ได้แปลว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น

การวินิจฉัย

แพทย์จะใช้การถามประวัติอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท การสังเกตพฤติกรรม และการทำงานของเด็กเป็นหลัก บางกรณีอาจจะต้องตรวจสายตา ตรวจการได้ยิน ตรวจคลื่นสมอง ตรวจเชาว์ปัญญา หรือความสามารถทางการเรียนด้านต่างๆ เพื่อแยกโรคอื่นๆ ด้วย

การรักษา

ปัจจุบันวิธีที่ได้ผลดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้าน คือ การใช้ยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การช่วยเหลือด้านจิตใจ และการช่วยเหลือด้านการเรียน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการที่เหมาะสมกับเด็ก ครอบครัว และโรงเรียนแต่ละรายไป

ผู้ใหญ่ก็เป็นโรคสมาธิสั้นได้

เนื่องจากประมาณ 25-30% ของเด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการหลงเหลืออยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ ทำให้ยังเป็นปัญหาอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าท่านมีอาการต่อไปนี้ อาจจะต้องรับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

  1. ใจร้อน โมโหง่าย
  2. ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  3. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ทนความเครียดได้น้อย
  4. วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำงาน
  5. รอคอยนานๆ ไม่ค่อยได้
  6. มักจะทำงานหลายชิ้น แต่ไม่สำเร็จตามเวลา
  7. อยู่นิ่งๆ แล้วอึดอัด ชอบเขย่าขา หรือลุกเดินบ่อยๆ
  8. เบื่อง่าย ต้องการสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
  9. ไม่มีระเบียบ
  10. ทำงานผิดพลาดจากความเลินเล่อ
  11. ลืม หรือผิดนัดอยู่เสมอ

ที่มา : พญ.วีรพร อัตศรัณย์
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

 
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-year/children/189-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99-attention-deficit-disorder.html