ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะระบุเด็ก 2 เพศวัย 13 ปีที่สุพรรณบุรี ต้องพึ่งจิตแพทย์ก่อนระบุได้ว่าจะผ่าตัดเป็นเพศใด แต่ลักษณะทางกายภาพพร้อมที่จะเป็นชาย ขณะที่มีการเลี้ยงดูให้เป็นหญิงมาตั้งแต่เกิด เตือนพ่อแม่ควรนำบุตรมาผ่าตัดตั้งแต่อายุ 2–5 ขวบ
พญ.ลั่นทม ตันวิเชียร หัวหน้างานศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (โรงพยาบาลเด็ก) เปิดเผยถึงกรณีเด็กอายุ 13 ปีที่จังหวัดสุพรรณบุรี มี 2 เพศนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในประเทศไทยมีการพบอาการดังกล่าวประมาณปีละ 5-6 ราย แต่มีการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยคือตั้งแต่แรกเกิด โดยอายุมากที่สุดที่เคยรักษาคือ 32 ปี ทั้งนี้กรณีเด็กอายุ 13 ปีที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องของสภาพความพร้อมของจิตใจ เนื่องจากเด็กโตพอที่จะรับรู้และต้องตัดสินใจว่าประสงค์จะเป็นเพศใด ขณะที่ได้รับการเลี้ยงดูให้เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เกิด แต่จากการตรวจลักษณะทางกายภาพพบว่าเด็กมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ชายเนื่องจากตรวจพบลูกอัณฑะ แพทย์จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะผ่าตัดเลือกเพศใดให้กับเด็ก จึงต้องให้จิตแพทย์มาพูดคุยและตรวจสภาพความพร้อมของเด็กก่อน และหากได้ข้อสรุปแล้วก็จะสามารถผ่าตัดให้ได้โดยเข้าในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
สำหรับอาการเพศกำกวม คือไม่สามารถระบุเพศได้เพราะมีทั้ง 2 เพศในคนเดียวนั้น แบ่งตามลักษณะเนื้อเยื่อต่อมเพศที่พบได้ 4 ชนิด คือ 1.True hermaphorditism หรือกะเทยแท้ คือ ภาวะที่มีต่อมเพศของทั้งเพศชายและเพศหญิงในคนเดียวกัน 2.Male pseudohermaphorditism หรือกะเทยเทียมชาย คือภาวะที่เป็นเพศชายแต่มีลักษณะของอวัยวะเพศภายนอกและภายในที่ไม่สมบูรณ์ คือมีลูกอัณฑะ 2 ข้าง แต่องคชาตผิดปกติ 3.Female pseudohermaphorditism หรือกะเทยเทียมหญิง คือภาวะที่เป็นเพศหญิงแต่มีอวัยวะเพศภายนอกเป็นลักษณะเพศชายเด่น โดยมีคลิตอริสโตเหมือนอวัยวะเพศชาย เกิดจากต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ทำให้ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย เมื่อผ่าตัดตกแต่งให้แล้วจะต้องให้ยากดและมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ กรณีนี้เคยมีประวัติแต่งงานในเครือญาติกัน และ 4.Dysgenetic gonadism คือ ภาวะที่พบลักษณะเนื้อเยื่อต่อเพศเป็นแบบ streak of gonad หรือ dysgenesis of gonad ทั้งนี้กลุ่มที่เจอมากที่สุดคือกลุ่มที่ 2 รองลงมาได้แก่กลุ่มที่ 3 ส่วนกลุ่มที่ 1 และ 4 พบได้น้อยมาก
ส่วนสาเหตุของภาวะเพศกำกวมคือการติดต่อทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับสารพิษตกค้างจากพีวีซี หรือสารพลาสติกที่มีผลต่ออสุจิ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นสาเหตุของภาวะเพศกำกวมด้วยหรือไม่ แต่นับว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์
พญ.ลั่นทม ยังแนะนำสำหรับพ่อแม่เด็กที่พบว่าลูกนั้นมีภาวะเพศกำกวม ควรที่จะรักษาตั้งแต่เด็กอายุ 2–5 ขวบ เพราะหากปล่อยให้เวลาผ่านไปจนเด็กโตอาจจะต้องอาศัยศาสตร์ทางการแพทย์อื่นๆ รักษาด้วย เนื่องจากเด็กจะรับรู้สังคมได้มากขึ้นหากเด็กมีอายุมากขึ้น โดยขณะนี้แพทย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มีประมาณ 4–5 คน ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน จึงไม่นับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงและยากต่อการแก้ไข
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000083891