นัดพบแพทย์

เตือนดูพัฒนาการลูกช่วง1-2ปี ชี้เด็กแฝด-คลอดก่อนกำหนด เสี่ยงสมองพิการ

07 Sep 2016 เปิดอ่าน 1697

   ราชวิทยาลัยเตือนเด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กแฝด กลุ่มเสี่ยงสูงภาวะสมองพิการ แนะพ่อแม่สังเกตพัฒนาการลูกช่วงวัยเด็ก1-2ปี หากเคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่ลุกนั่ง ไม่เดิน รีบพบแพทย์
       
       รศ.พญ.กมลทิพย์ หาญผดุงกิจ อุปนายกราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในผู้ป่วยกลุ่มสมองพิการที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งทำให้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายมีสาเหตุมาจากการเกิดภาวะที่สมองมีรอยโรคไม่ว่าจะเป็นการขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด หรือการเกิดโรคทางสมอง อาทิ โรคไข้สมองอักเสบ ฯลฯในช่วงที่สมองยังไม่พัฒนาการเต็มที่คือไม่ถึงอายุ 8 ปี ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูกในช่วงวัยเด็กอย่างใกล้ชิด หากไม่ลุกนั่ง ไม่เดิน หรือมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวต่างจากพัฒนาการตามวัยเด็กประมาณ1-2 ปีที่ควรจะเป็น ควรรีบพบแพทย์
       
       “ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าใด โอกาสเสี่ยงที่เด็กจะมีภาวะสมองพิการจะมีมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีภาวะมีบุตรยาก มักจะถูกกระตุ้นให้ไข่ตกมากกว่าปกติ ทำให้คลอดลูกแฝด และมักจะคลอดก่อนกำหนด ก็มีโอกาสเสี่ยงเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดทุกรายหรือกลุ่มมีบุตรยากทุกรายจะมีบุตรที่มีภาวะสมองพิการดังกล่าว เพียงแต่ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้น ขณะเดียวกันเด็กที่มีภาวะสมองพิการจะมีผลต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว ซึ่งบางรายเท่านั้นที่มีระดับสติปัญญาอ่อนร่วมด้วย”รศ.พญ.กมลทิพย์ กล่าว
       
       รศ.พญ.กมลทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับอุบัติการณ์ของภาวะสมองพิการทำให้มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งประมาณ 2.4 รายของเด็กอายุ 3-10 ปีจำนวนพันราย ในจำนวนนี้สาเหตุของการสมองพิการจากการคลอดมีประมาณ 1%ต่อทารกพันรายที่คลอดมีชีพ 86% ของผู้ป่วยภาวะสมองพิการทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งส่วนล่างและเป็นทั้งสองข้าง ภาวะทางสมองดังกล่าวทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อแล้วแต่จุด หากหดเกร็งในท่อนขาก็ทำให้การเดินผิดปกติ เดินเขย่งตลอดชีวิต
       
       “วิธีการรักษามีทั้งการทานยา และฉีด แพทย์จะเป็นผู้เลือกว่าผู้ป่วยเหมาะกับอาการของโรคใด ส่วนใหญ่ใช้หลายแนวทางร่วมกัน เช่น ในรายที่มีอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อมากอาจให้ยาทาน หรือในรายที่เด็กจะให้ยาฉีด ซึ่งยาฉีดที่ใช้รักษาเดิมมีการใช้ สารฟีนอล ซึ่งเป็นกลุ่มแอลกอฮอล์ วิธีการฉีดยุ่งยาก เนื่องจากต้องปักเข็มเข้าเนื้อเพื่อหาจุดจึงค่อยฉีดยา ซึ่งหากเป็นเด็กเล็กจะยุ่งยากมาก ในระยะหลังวงการแพทย์มีการใช้สารโบทูลินั่มท็อกซินมาฉีดเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายการหดเกร็ง โดยมีฤทธิ์ยาประมาณ 3 เดือน”รศ.พญ.กมลทิพย์ กล่าว
       
       รศ.พญ.กมลทิพย์ กล่าวด้วยว่า การรักษาด้วยสารโบทูลินั่มท็อกซินปัจจุบันเป็นวิธีที่ได้ผลดี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก แต่ต้องควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดด้วย โดยการฉีดสารดังกล่าวจะคำนวณตามน้ำหนักของผู้ป่วย คือ 5-20 หน่วยต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากเด็กน้ำหนัก 20 กิโลกรัมจะต้องใช้ยาประมาณ 200 หน่วยหรือประมาณ 2 ขวด ซึ่งยาที่ใช้รักษาอยู่ในปัจจุบันนี้มีทั้งมาจาก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อขวด และทราบมาว่า ล่าสุดมีบริษัทยาจากประเทศเกาหลีนำเข้าสารดังกล่าวที่มีคุณภาพเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่าประมาณ 30% ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงยามากขึ้น

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www2.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000072605