นัดพบแพทย์

เตือน เมนส์มาแบบทะลักทลายบ่อยเสี่ยงมะเร็ง

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 1724

 แพทย์เตือนหญิงประจำเดือนมาผิดปกติควรพบแพทย์ แม้จะมาตรงทุกเดือน แต่หากมาน้อยก็ถือว่าผิดปกติ เสี่ยงโรคอั้นประจำเดือนแล้วมาแบบทะลักทลายภายหลังเหมือน “ใบเตย อาร์สยาม” ชี้หากเป็นวันมามากผิดปกติบ่อยครั้ง อาจเสี่ยงมะเร็งโดยเฉพาะกลุ่มหญิงวัยทองพบมากถึง 10% ส่วนกลุ่มวัยรุ่นอาจเป็นฮอร์โมนผิดปกติ

 รศ.นพ.อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาวิชาผ่านกล้องไทย-เยอรมัน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การมีประจำเดือนมาแบบปกติของผู้หญิงจะต้องมีสัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกให้รู้ล่วงหน้า ที่สำคัญมาตรงกำหนดทุกเดือน และมาในปริมาณเท่าเดิม เช่น ปกติเคยมา 3 วันก็ต้องมา 3 วัน หรือการใช้ผ้าอนามัยก็ต้องใช้ปริมาณเท่าเดิมทุกเดือน เป็นต้น หากมีอาการผิดแปลกไปจากเดิมถือว่าเป็นประจำเดือนที่มาไม่ปกติทั้งหมด แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ตนมีประจำเดือนทุกเดือน แม้จะมาแบบเล็กน้อย หรือกระปริบกระปรอย ก็ถือว่ามีประจำเดือนเป็นปกติ ตรงนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด ซึ่งการมีประจำเดือนมาแบบกระปริบกระปรอยแบบนี้อาจทำให้เกิดโรคอั้นประจำเดือนได้เช่นกัน คือ เมื่อประจำเดือนมาก็จะมาแบบทะลักทลาย อย่างกรณีของ ใบเตย อาร์สยาม ก็คาดว่าน่าจะเป็นลักษณะดังกล่าว
       
       รศ.นพ.อัมพัน กล่าวอีกว่า หากประจำเดือนมาเป็นปกติทุกเดือนแล้วมี 1 เดือนที่มาผิดปกติ ก็ให้สังเกตไปก่อน 1-2 เดือนว่ายังมาผิดปกติหรือไม่ หากมาเป็นปกติเช่นเดิมก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่หากยังมาแบบผิดปกติอีก ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย อย่างกรณีมีประจำเดือนมามากผิดปกติถือว่าอันตราย เพราะอาจเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีติ่งเนื้อ หรืออาจถึงขั้นเป็นมะเร็ง ซึ่งจะต้องขูดมดลูกหรือดูดเซลล์ เพื่อตรวจดูการกลายพันธุ์ของเซลล์ว่าจะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ เป็นต้น
       
       “ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อประจำเดือนมาผิดปกติมักไม่ค่อยมาตรวจ เพราะกลัวว่าตรวจแล้วจะเจออะไรที่ผิดปกติ เลยไม่มาตรวจก็เท่ากับว่าไม่เจอ สำหรับผู้ป่วยด้านนรีเวชฯของ รพ.ศิริราช พบว่า เป็นเคสประจำเดือนผิดปกติประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างโรคอั้นประจำเดือนส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดจากฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งจะพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ก็จะทำการรักษาโดยการให้ยาปรับฮอร์โมน ส่วนกลุ่มใกล้วัยทองอาจมีความเสี่ยงที่เกิดจากมะเร็งเป็นสาเหตุมากกว่า ซึ่งจากการตรวจขูดมดลูกหรือดูดเซลล์ไปตรวจพบว่า 10% เกิดจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” รศ.นพ.อัมพัน กล่าว

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000097536