นัดพบแพทย์

เส้นประสาทมีเดียน

02 Dec 2016 เปิดอ่าน 4553

กลุ่มอาการเส้นประสาทมีเดียน( Median Nerve ) ถูกกดทับในช่องลอดของข้อมือ

  เมื่อท่านมีอาการชาหรือปวดหรือมีความรู้สึกไม่สบาย ไม่ปกติบริเวณปลายนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 
   1.    ภยันตรายต่อเส้นประสาทมีเดียนในรยางค์ส่วนบน
   2.    เกิดจากสภาวะที่ทำให้การไหลเวียนของโลหิตที่เข้าเลี้ยงเส้นประสาทบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ
   3.    เป็นผลแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือการติดเชื้อไวรัสของเส้นประสาท เป็นต้น
   4.    เนื้องอกบางชนิดของเส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อรอบๆเส้นประสาท
   5.    การอักเสบของเนื้อเยื่อสร้างน้ำเลี้ยงเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้ว บริเวณช่องลอดของเส้น ประสาทบริเวณข้อมือ
   6.    ปลายประสาทอักเสบ

    สภาวะการกดทับเส้นประสาท ทำให้การไหลเวียนของโลหิตของเส้นประสาทบกพร่องนี้ เป็นสภาวะที่พบบ่อย ด้วยอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 10 ของสตรีวัยทำงาน ซึ่งกลุ่มอาการนี้เรียกว่า “CARPAL  TUNNEL  SYNDROME” หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “กลุ่มอาการที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทมีเดียนในช่องลอดของข้อมือ” จากกายวิภาคในบริเวณดังกล่าวจะพบว่า เส้นประสาทมีเดียนอยู่ร่วมกับเอ็นงอนิ้วมือเก้าเส้นและมีเนื้อเยื่อสร้างน้ำเลี้ยงเส้นเอ็น ภายในช่องลอดที่มีผนังสามด้านเป็นกระดูก และผนังบริเวณฝ่ามือเป็นเส้นเยื่อพังผืดแข็ง เมื่อใดมีการเพิ่มปริมาตรและขนาดของเนื้อเยื่ออวัยวะหรือมีการลดขนาดของช่องลอด จะทำให้เกิดแรงดันภายในช่องลอดเพิ่มขึ้น แรงดันที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้รูของหลอดโลหิตขนาดเล็กของเส้นประสาทมีเดียนตีบแคบ จึงเกิดการไหลเวียนของโลหิตบกพร่อง ซึ่งร้อยละ 80 ของกลุ่มอาการนี้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

    อาการและอาการแสดง
    ผู้ป่วยจะรู้สึกชาปลายนิ้วมือบางนิ้วหรือทุกนิ้ว อาการจะมากขึ้นเมื่อหลับไปสักพัก หรือขณะขับรถจักรยานยนต์ เมื่อได้สะบัดมือ นวดมือ แล้วจะดีขึ้น ผู้ป่วยมักคิดว่านอนทับมือจึงมีอาการนี้เกิดขึ้น บางท่านจะมีอาการชาหรือปวดมากขึ้น บางโอกาสจะรู้สึกปวดร้าวไปยังปลายแขนและต้นแขน บางครั้งจะรู้สึกว่ามือไม่มีแรง แต่ถ้าเป็นมากขึ้นแล้ว จะมีอาการฝ่อของกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือส่วนด้านนอก บางครั้งรู้สึกว่านิ้วมือบวม แต่เมื่อดูนิ้วมือแล้วไม่เห็นว่านิ้วมือบวม เพราะปัญหาเกิดกับการไหลเวียนของโลหิตไปเลี้ยงยังเส้นประสาทมีเดียน ทำให้การทำงานของเส้นประสาทบกพร่อง เพราะหน้าที่ของเส้นประสาทคือรับความรู้สึกและเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ อาการแสดงจึงมักแสดงออกทางความรู้สึกก่อนในขั้นต้น ตามด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

        MEDIAN  NERVE
        (เมื่อเคาะที่ประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือจะมีอาการเสียวมาที่ปลายนิ้วหัวแม่มือหรือปลายนิ้วชี้หรือนิ้วกลาง)
        การรักษา  ประกอบด้วย
          

 

1.การรักษาด้วยยารับประทาน จำพวก ไวตามินบี ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
          

2.การรักษาด้วยยาฉีดเฉพาะที่จำพวกสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าไปในช่องลอดของฝ่ามือ เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท
          

3.การรักษาโดยการใส่กายอุปกรณ์ เพื่อพักการเคลื่อนไหวของข้อมือ เพราะถ้าข้อมืองอหรือกระดกขึ้นจะทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันภายในช่องลอด ความดันที่เพิ่มขึ้นจะไปกดหลอดเลือดเล็กๆของเส้นประสาท ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทน้อยลง
                                        

4.เมื่อรักษาด้วยยาหรือกายอุปกรณ์ไม่ดีขึ้น ควรรักษาด้วยการผ่าตัดคลายการกดทับ โดยการตัดเยื่อพังผืดส่วนผนังทางด้านฝ่ามือ
                                            ของช่องลอดที่คลุมเส้นประสาท เพื่อขยายปริมาตรของช่องลอด และลดความดันภายในช่องลอด 

     











วิธีการ

 

ผ่าตัดมี 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดตามปกติ
- การผ่าตัดโดยใช้กล้องสอดเข้าบริเวณข้อมือเพื่อตัดขยายเยื่อพังผืด บาดแผลจะยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่จากการศึกษาพบว่าผลขั้นสุดท้ายไม่แตกต่างกัน

ผลแทรกซ้อน
   1.ถ้าไม่รักษาจะทำให้การรับความรู้สึกบกพร่อง มีอาการชาหรือปวดมากขึ้น และกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือที่เลี้ยงไปยังเส้นประสาทดังกล่าวลีบ และกล้ามเนื้ออ่อนแรงของนิ้วหัวแม่มือ
   2.ถ้ารักษาโดยการฉีดยาต้องระมัดระวังขณะฉีดยาไม่ให้มีภยันตรายต่อเส้นประสาทมีเดียน ขณะฉีดยา ปลายเข็มไม่ควรสัมผัสกับเส้นประสาท
   3.รักษาโดยยารับประทานจำพวกยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAID) เพราะอาจจะมีการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
   4.รักษาโดยการผ่าตัด ในโรคดังกล่าวมักได้ผลดีเกือบทั้งหมด ในการรักษาโรค แต่อาจมีอาการเจ็บรอยแผลผ่าตัด ภายหลังการผ่าตัดนาน 2 – 3 เดือน ในผู้ป่วยร้อยละ 15 จากการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อน
    ผู้เขียนคิดว่าการรักษาแรกเริ่มควรเป็นการฉีดยาจำพวกสเตียรอยด์เฉพาะที่เข้าไปในช่องลอด 2 หรือ 3 ครั้ง ถ้าไม่ได้ผลจึงพิจารณาผ่าตัด เพราะการรักษาด้วยยารับประทานและกายอุปกรณ์มักไม่ค่อยได้ผลการรักษาเท่าที่ควร

 

รศ.นพ.ปรีชา  ชลิดาพงศ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://board.postjung.com/700455.html