นัดพบแพทย์

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง

26 Aug 2016 เปิดอ่าน 1655

 กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบของปัสสาวะ รูปร่างคล้ายบัลลูน อยู่หลังกระดูกหัวหน่าวภายในอุ้งเชิงกราน และอยู่หน้ามดลูกของผู้หญิง ส่วนผู้ชาย อยู่หน้าต่อทวารหนัก ผนังของกระเพาะปัสสาวะประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบส่วนใหญ่ มีหน้าที่กักเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 300-350 ซี.ซี. ทำให้รู้สึกอยากปวดปัสสาวะมาก ผนังกล้ามเนื้อของปัสสาวะจะบีบตัวให้มีการปัสสาวะผ่านทางหลอดปัสสาวะออกสู่ภายนอกจนหมดในเวลาไม่เกิน 30 วินาที โดยไม่มีอาการปวดหรือแสบบริเวณหลอดปัสสาวะเลย ในคนปรกติถ้าดื่มน้ำวันละ 1500-2000 ซี.ซี. (ประมาณ 8-10แก้ว) จะปัสสาวะประมาณวันละ 3-5 ครั้ง หลังเข้านอนจะไม่ตื่นมาปัสสาวะเลย
อาการปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) อย่าเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ไตขับปัสสาวะมากกว่าปรกติ จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำมาก รับยาขับปัสสาวะเนื่องจากเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ส่งผลให้ปัสสาวะที่มากักเก็บในกระเพาะปัสสาวะเต็มเร็ว จึงปัสสาวะบ่อยกว่าปรกติ (มากกว่า 5 ครั้ง ต่อวัน) และอาจต้องตื่นมาปัสสาวะหลังเข้านอนแล้วประมาณไม่เกิน 2 ครั้ง ที่สำคัญผู้ป่วยจะมีปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งเท่าคนปกติ (ประมาณ 350-500 ซี.ซี.) เมื่อตรวจปัสสาวะจะไม่พบการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุข้างต้น
    2. มีความผิดปรกติที่กระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถกักเก็บปัสสาวะได้นาน ปวดปัสสาวะเร็ว บางคนอาจปัสสาวะทุก 1 หรือ 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือปวดปัสสาวะหลังนอนหลับแล้วตอนดึกก่อนถึงเช้าทุกคืน ๆ มากกว่า 2 ครั้ง ครั้งละน้อยกว่าปกติ (ไม่ถึง 300 ซี.ซี.) เกิดจาก
                   2.1 กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบมากในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว (อายุ 30-40 ปี) เนื่องจากมีการอักเสบในช่องคลอดบ่อย ๆ มีตกขาวมากกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้ากระเพาะปัสสาวะง่ายเพราะหลอดปัสสาวะผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย อาจพบมีรูเปิดหลอดปัสสาวะตีบแคบด้วยในบางคน ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมีอาการปัสสาวะบ่อย ครั้งวันละน้อย ๆ อาจเจ็บเสียวบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ/บริเวณท้องน้อย หรือมีอาการปัสสาวะไม่สุด ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะพร้อมรักษาอาการตกขาวในช่องคลอด หรือขยายรูเปิดหลอดปัสสาวะด้วยจึงจะหายขาด
                       2.2 กระเพาะปัสสาวะเล็ก ขยายตัวไม่ได้ เนื่องจากถูกฉายแสงรักษามะเร็งของปากมดลูก เป็นวัณโรคกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นกล้ามเนื้อขยายเพื่อเก็บปัสสาวะมากไม่ได้ หรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่ในมดลูก หรือหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 เดือน มดลูกจะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เก็บปัสสาวะได้ไม่มาก จึงทำให้ปัสสาวะบ่อย
                       2.3 มีสิ่งแปลกปลอมในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนนิ่ว เนื้องอกขนาดใหญ่ อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย แต่พบน้อยมากในผู้หญิง
               3 มีความผิดปรกติทางจิตใจ เช่น ภาวะเครียดจากงาน กลัวโรคภัยไข้เจ็บ มีปัญหาครอบครัว ผู้ป่วยส่วนมากมักจะปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางวันหรือหัวค่ำ เมื่อหลับแล้วจะไม่ตื่นมาปัสสาวะอีก เนื่องจากไม่มีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ
               4 ประสาทควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีความผิดปรกติ ทำให้ผนังกล้ามเนื้อทำงาน บีบตัวบ่อย จำเป็นต้องตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะด้วยเครื่องตรวจพิเศษ เพื่อตรวจการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

ดูแลสุขภาพอย่างไรห่างไกลโรคนี้
1. พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็น
2. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 6 - 8 แก้ว (ตั้งแต่เช้าถึงเข้านอน)
3. ควรรักษาอาการตกขาวให้หายขาด
4. ถ้าหากมีอาการปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องไปพบศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะทันที

           หากพบว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ และเรื้อรัง ควรไปพบศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยเฉพาะคุณผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โอกาสที่จะเป็นโรคชนิดนี้ค่อนข้างสูง และหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธงชัย พรรณลาภ
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภ.ศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=9