นัดพบแพทย์

โรคตับแข็ง

16 Apr 2017 เปิดอ่าน 2564

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นโรคตับแข็งสิ่งแรกควรถามแพทย์ผู้ดูแลว่าสาเหตุของตับแข็ง

เกิดจากอะไร? และความรุนแรงของตับแข็งอยู่ในระยะใดแล้ว

สาเหตุของโรคตับแข็ง

ตับแข็งเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบบ่อยในบ้านเราก็คือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะไขมันสะสมในตับ หากตรวจพบ และรักษาที่ต้นเหตุจะช่วยชะลอการเสื่อมของตับ และทำให้การทำงานของตับดีขึ้นได้

ความรุนแรงของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งแบ่งได้เป็นสามระยะ คือระยะที่หนึ่ง สองและสาม ในระยะที่หนึ่งจะมีการทำงานของตับผิดปกติเพียงเล็กน้อย ตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไปผู้ป่วยจะเริ่มมีตัวเหลือง ตาเหลือง อาจมีน้ำในช่องท้องหรือเรียกว่าท้องมาน มีอาการซึม หรือสับสน ความจำ หรือความคิดอ่านช้าลง ในระยะนี้เมื่อตรวจค่าการทำงานของตับจะพบค่าอัลบูมิน (albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่สร้างจากตับมีค่าต่ำลงกว่าปกติ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับแข็ง

1. อาหาร

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคตับแข็งสามารถทานอาหารได้ทุกชนิด โดยเน้นว่าจะต้องเป็น อาหารที่สุกและสะอาด อาหารที่มีไขมันก็สามารถทานได้ หากเมื่อทานแล้วไม่รู้สึกอืดท้อง โปรตีนคุณภาพดีที่ราคาถูก และย่อยง่ายคือไข่ ผู้ที่บวมหรือมีอัลบูมินในเลือดต่ำแนะนำให้ทานไข่ขาวอย่างน้อยวันละ 2-3 ฟองขึ้นไป ส่วนไข่แดงสามารถทานได้วันละ 1-2 ฟอง หากไม่มีระดับไขมันในเลือดสูงมาก อาหารโปรตีนชนิดอื่นที่คุณภาพดี และย่อยง่ายคือเนื้อปลา นม และน้ำเต้าหู้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการสับสน หรือซึมควรลดอาหารโปรตีนชั่วคราวก่อนจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีน้ำในช่องท้องมากควรลดอาหารที่มีรสเค็ม

2. ยา

ควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง หากไม่สบายไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าป่วยเป็นโรคตับแข็งอยู่ เนื่องจากแพทย์จะได้หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อตับ ส่วนยาพาราเซตามอล สำหรับแก้ปวดลดไข้สามารถใช้ได้บ้างเท่าที่จำเป็นแต่ไม่ควรเกินวันละ 4 เม็ด ส่วนยาชุดแก้ปวดต้องหลีกเลี่ยงเพราะนอกจากจะทำให้บวมแล้วยังทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และไตวายได้ด้วย

3. แอลกอฮอล์

ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรงดดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้นและยังช่วยป้องกันไม่ให้การอักเสบในตับกำเริบได้อีกด้วย

4. สมุนไพร และอาหารเสริม

ควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นยาชุด ยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทุกรูปแบบทั้งแบบเม็ด ผง และน้ำ หากไม่แน่ใจว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานทุกครั้ง

5. การออกกำลังกาย

ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะที่หนึ่งสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ ส่วนระยะที่สอง และสามควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน รำไทเก็ก หรือมวยจีน กระบี่กระบอง ซึ่งจะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น

6. การขับถ่ายอุจจาระ

การขับถ่ายอุจจาระให้ได้ทุกวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง เนื่องจากภาวะท้องผูกจะทำให้มีของเสียคั่งค้างในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดอาการซึม หรือสับสนได้ โดยทั่วไปแพทย์มักให้ยาระบายแก่ผู้ป่วยซึ่งผู้ป่วยสามารถปรับขนาดยาเองได้เพื่อให้ถ่ายอุจจาระให้ได้วันละ 1-3 ครั้ง

7. ตรวจตามนัด

ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างถูกต้อง และปลอดภัยจากแพทย์

แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

* อาเจียนเป็นเลือด

* ถ่ายดำ

* มีไข้

* ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น

* ปวดท้อง อึดอัดแน่นท้อง

* ท้องโตขึ้นรวดเร็ว

* มีอาการซึม หรือสับสน

 

 

โดย : นายแพทย์นพวุฒิ  กีรติกรณ์สุภัค

ขอบคุณบทความจาก : http://www.somdej.or.th/index.php/2016-11-07-03-53-23