นัดพบแพทย์

โรคลำไส้แปรปรวน

25 Aug 2016 เปิดอ่าน 3438

ปัจจุบันนี้เราจะพบว่ามีคนเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ หรือถ่ายอุจจาระเหลว หรือท้องเสียง่ายเวลากินอาหารเผ็ด เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนเกือบทั้งหมด ดังนั้นเราควรจะมาดูกันว่า โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคอะไรกันแน่ เพราะมีการประมาณไว้ว่าร้อยละ 10-20 ของคนไทยเป็นโรคนี้ หรือเท่ากับประมาณ 6-10 ล้านคนทั่วประเทศ โดยผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย

โรคลำไส้แปรปรวนคืออะไร
     โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย อันได้แก่ ปลายลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีการบีบตัวมากเกินไป และมีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มีรสเผ็ด ชากาแฟ หรือไวต่อความเครียด ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีอาการปวดเกร็งหรือแน่นอึดอัดท้อง ท้องอืด บางครั้งคล้ายๆ กับมีลมในท้องมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีลมมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังทำให้การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ คือ อุจจาระมีขนาดเล็กลง เป็นก้อนแข็งขึ้น หรือเป็นก้อนเล็กๆ สั้นๆ เนื่องจากการบีบรัดของลำไส้ใหญ่ หรืออาจมีอาการถ่ายท้องบ่อยขึ้น หรือถ่ายเหลวกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการบีบของลำไส้เช่นกัน
 

ทางการแพทย์แบ่งโรคนี้ออกเป็นชนิดต่างๆ ตามอาการหลักของผู้ป่วย คือ แบ่งออกเป็นชนิดท้องผูก(ถ่ายยาก) ชนิดท้องเสีย(ถ่ายบ่อย) หรือชนิดที่เป็นทั้งสองอย่าง ซึ่งอาการต่างชนิดกันทั้งหมดนี้เกิดจากโรคเดียวกัน คือ โรคลำไส้แปรปรวน อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องแยกโรคกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังบางชนิด

      ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน มีการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนานมากกว่า 20 ปี จึงถือว่าโรคนี้เป็นโรคประจำตัวโรคหนึ่งที่ไม่หายขาด เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร
     โรคลำไส้แปรปรวนมีความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ที่ทำให้มีความไวต่ออาหารบางชนิดและไวต่อความเครียด อาการของโรคจะเป็นมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นหากกินอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด ชากาแฟ เหล้าหรือบุหรี่ รวมทั้งการกินอาหารมากเกินไป หรือกินอาหารผิดเวลาบ่อยๆ

      สาเหตุที่เกิดอาการตอบสนองไวกว่าปกตินั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเด็ก มีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งระบบภูมิต้านทานโรคที่ผนังลำไส้ผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้

      เนื่องจากสาเหตุที่ชัดเจนไม่แน่นอน ดังนั้นการแพทย์ในปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได

อาการและการวินิจฉัยโรค
     ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อาการปวดหรือแน่นท้องไม่สบายท้อง อาการของการขับถ่ายที่ผิดปกติ และเป็นเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน (ดูตาราง) ถ้าคนไหนที่มีอาการครบ 3 กลุ่มดังกล่าวนี้ก็มีโอกาสเป็นโรคลำไส้แปรปรวนสูง แต่การที่ผู้ป่วยมีอาการมานานกว่า 6 เดือนโดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ ที่รุนแรงทำให้มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงน้อยลงมาก

ลักษณะอาการโรคลำไส้แปรปรวน

     1. ปวดท้อง ปวดเป็นพักๆ ปวดมวนท้อง แน่นอืดท้อง อึดอัด มีลมมาก รำคาญ

      2. ลักษณะและการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น
         - อุจจาระลำบาก ท้องผูก หรือท้องเสีย
         - ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป ถ่ายเหลวๆ หรือเป็นก้อนแข็งขนาดเล็กลง หรือมีมูกปน
          - อาการมักจะดีขึ้นหรือแย่ลงหลังการถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระไม่สุด

      3. เป็นๆ หายๆ มานานกว่า 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกวัน

      4. ไม่มีอาการของโรคร้ายแรง ได้แก่ อุจจาระมีเลือด มีน้ำหนักตัวลดลง ซีดผิดปกติ มีก้อนในท้อง มีไข้ ปวดท้องรุนแรงหรือตลอดเวลา ฯลฯ

     อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือน หรือเริ่มจะเป็นได้ไม่นาน และนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด เพราะอาจไม่ใช่โรคลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนอายุน้อย

การวินิจฉัยของแพทย์
     ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวนทุกคนควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งการวินิจฉัยของแพทย์ที่สำคัญที่สุดคือ การซักรายละเอียดของอาการป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และแพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาก่อนที่จะแนะนำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ

      แม้การวินิจฉัยด้วยการตรวจพิเศษใดๆ จะไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่เป็นการตรวจเพื่อค้นหาโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการเหมือนโรคลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาโรคร้ายแรง

      สำหรับแนวทางที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคนั้น (ตามรูป) แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคร้ายแรงหรือไม่ เช่น ดูตัวอย่างอาการ 4 ข้อที่กล่าวถึงมาแล้ว ผู้ป่วยมีอายุ 50 ปีหรือมากกว่า แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทันที แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคร้ายแรงและอายุน้อยกว่า 50 ปี แพทย์มักจะให้การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนโดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจใดๆ เพิ่มเติม และหากอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมใดๆ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมที่กล่าวถึง คือ การตรวจอุจจาระ และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องหรือเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยคอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่สามารถตรวจด้วยเครื่องมือดังที่กล่าวมา อาจตรวจด้วยการทำเอกซเรย์สวนแป้งทึบแสงแทนก็ได้ (แต่มีความไวน้อยกว่า 2 วิธีแรก) อนึ่ง การตรวจลำไส้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีนั้น เน้นการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ระยะแรก ซึ่งพบบ่อยมากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี

การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
     พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ (อาจมากถึงร้อยละ 70) ไม่ได้ไปพบแพทย์ เนื่องจากคิดว่าไม่เป็นปัญหา หรือคิดว่าตัวเราเป็นปกติแบบนี้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีอาการเป็นๆหายๆ มานานก่อนที่จะไปพบแพทย์ และส่วนหนึ่งไปเมื่อมีอาการมากขึ้น พอหายดีก็จะไม่ไปติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการก็จะเกิดขึ้นใหม่ ทำให้เป็นโรคนี้เป็นโรคที่ไม่หายขาด

      ส่วนการดูแลผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนให้ได้ผลดีที่สุด จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์จะสั่งยาเพื่อลดอาการของผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้อาการดีขึ้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นส่วนที่ผู้ป่วยต้องร่วมมือกับแพทย์ในการดูแลตนเองในชีวิตประจำวันเพื่อทำให้อาการไม่กำเริบขึ้น เช่น การดูแลเรื่องอาหาร การลดความเครียด และที่สำคัญต้องเข้าใจว่า อาการอาจเป็นๆ หายๆ แม้ขณะที่ได้รับยา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน และผู้ป่วยต้องมีความเชื่อมั่นว่า โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงเพียงแต่ทำให้เกิดแค่อาการผิดปกติเท่านั้น

      ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ประกอบไปด้วยยากลุ่มต่างๆ ที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เช่น ยาเพิ่มใยอาหารในลำไส้ ซึ่งจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ยาลดอาการปวดท้องโดยออกฤทธิ์ลดการบีบของลำไส้ ยาเพิ่มน้ำในลำไส้เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง หรือยาลดการถ่ายอุจจาระ เป็นต้น สำหรับยาที่แพทย์ใช้กับผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นกับอาการและการตอบสนองของผู้ป่วย โดยยาที่ได้ผลกับผู้ป่วยคนหนึ่งๆ อาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์

      ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกหรือถ่ายยากบางคนรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาถ่ายมากินเป็นประจำ ยาในกลุ่มที่เรียกว่ายาถ่ายสามารถใช้เป็นครั้งคราวได้ แต่ถ้าต้องใช้เป็นเวลานานๆ จะมีผลเสียต่อลำไส้ใหญ่ ที่พบบ่อยคืออาการดื้อยา บางครั้งจึงต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้นเรื่อยๆ เช่น เพิ่มจาก 1-2 เม็ดเป็นมากกว่า 10 เม็ดจึงจะได้ผล ซึ่งการใช้ยาขนาดสูงอาจทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ หรือบางครั้งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานลดลง

      ผู้ป่วยบางคนอาจชอบทำการสวนล้างลำไส้ (detox) เนื่องจากทำแล้วอาการดีขึ้น แต่เป็นการดีขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้นก็เป็นเหมือนเดิม และที่สำคัญการสวนอุจจาระที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เป็นอันตรายรุนแรงได้อย่างที่ไม่คาดคิด

การดูแลตนเองมีวิธีอย่างไรบ้าง
     นอกจากการใช้ยาแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพของตนเองก็มีความสำคัญในการรักษาโรคนี้มาก หลักการดูแลตนเอง อาจแบ่งออกเป็นดังนี้

      การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร
     ผู้ป่วยหลายคนพบว่า การกินอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน หรือชากาแฟ ทำให้มีอาการมากขึ้น และการดูแลการกินอาหารทำให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด การกินผิดเวลา กินอาหารอิ่มมากเกินไป ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ หรืออาหารมันๆ นมสด ทำให้อาการกำเริบขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาด้วยยาร่วมกับการหลีกเลี่ยงอาหารตามที่กล่าวจะทำให้อาการดีขึ้น มากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
ผู้ป่วยหลายคนพบว่าการกินอาหารพวกผักผลไม้ที่มีใยอาหารมากๆ ทำให้อาการดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการท้องผูกจะดีขึ้นเพราะใยอาหารทำให้อุจจาระเป็นก้อนและมีน้ำมากขึ้น ช่วยทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น แต่ใยอาหารอาจไม่ได้ช่วยผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียถ่ายเหลวบ่อย หรือมีอาการปวดท้อง แต่ถ้าเพิ่มอาหารที่มีเส้นใยร่วมกับการใช้ยาที่แพทย์สั่งก็จะสามารถลดอาการได้ดีกว่าการใช้ยาอย่างเดียว ดังนั้นการกินอาหารที่มีใยอาหารถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ข้อเสียของการกินใยอาหารจำนวนมาก คือ อาจทำให้เกิดอาการแน่นอืดท้อง มีลมมาก ซึ่งมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของการกินยา โดยอาการดังกล่าวจะหายไปใน 2-3 สัปดาห์

      ที่สำคัญผู้ป่วยควรกินน้ำมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยถ่ายอุจจาระลำบากหรือท้องผูก และกลุ่มที่มีท้องเสีย

      ลดความเครียดในชีวิตประจำวัน
     ความเครียดความกังวลมีส่วนทำให้เกิดอาการของลำไส้แปรปรวน โดยทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์อาจต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ในการลดความเครียดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือไม่ตอบสนองต่อยาเบื้องต้น ซึ่งทำให้อาการดีขึ้น

 

นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_125.html