นัดพบแพทย์

“ปวดหลัง” ไม่ใช่สัญญาณอันตราย “ไต” พบเกี่ยวข้อง 3 โรค ยันไม่มียาบำรุงไต

12 Sep 2016 เปิดอ่าน 2271

ศิริราชเปิดเวทีเคลียร์ข้อมูล “โรคไต” ผิด ๆ ทางโซเชียล ย้ำอาการปวดหลังไม่ใช่สัญญาณอันตรายโรคไต พบเกี่ยวข้องแค่ 3 โรค “กรวยไตอักเสบ - ซีสต์ในไต - นิ่วอุดท่อไต” ชี้ ไม่ทำให้ไตวายเรื้อรัง รักษาหายได้ ย้ำไม่มียาบำรุงไต - ล้างไตตามเชื่อ เตือนป่วยโรคเรื้อรังควรกินยาต่อเนื่อง พบแพทย์ตามนัด ป้องกันเกิดโรคไตแทรกซ้อน
       
       ผศ.พญ.รัตนา ชวนะสุนทรพจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา “เมื่อฉันไม่อยากเป็นโรคไต” ในงานอายุรแพทย์ศิริราชพบประชาชน 2559 “เมื่อหมอขอแชร์...ข้อเท็จจริงทางสุขภาพจากโลกโซเชียล” ว่า โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีพอ จะส่งผลให้เกิดภาวะไตเสื่อม หรือเกิดโรคไตเรื้อรังขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะพบปัญหาผู้ป่วยเบาหวานและความดันมารักษาด้วยโรคไตจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งคือไม่ยอมรับประทานยา โดยอ้างว่าต้องรับประทานตลอดทำให้เกิดพิษต่อไต ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะการรับประทานยาเบาหวานและความดันจะช่วยควบคุมอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ไตก็จะเสื่อมช้าลง แต่หากไม่รับประทานยาเลยก็จะทำให้ไตวายเร็วขึ้น ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือความดันในระยะแรกที่ยังไม่ต้องใช้ยา ก็จะใช้การปรับพฤติกรรมก่อน เช่น ลดอาหารหวานมันเค็ม การออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งหากควบคุมได้ดี ก็สามารถชะลอภาวะไตเสื่อมได้เช่นกัน
       
       “โรคเบาหวานและความดันถือเป็นภัยเงียบ เพราะเมื่อเป็นแล้วจะไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งบอกว่าทำให้ไตผิดปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานและความดันต้องมาพบแพทย์ตามนัดเสมอ เพื่อตรวจปัสสาวะว่าไตมีความผิดปกติแล้วหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจได้จากการพบไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ สำหรับข้อกังวลว่ารับประทานยาแล้วทำให้ไตเสื่อมลงนั้น หากเป็นยาทั่วไป ยาปฏิชีวนะ หากไม่เกิดอาการแพ้ก็ไม่ทำให้การทำงานของไตลดลง ยกเว้นแต่ยาชุดแก้ปวดเข่า แก้เอ็นและข้ออักเสบ ซึ่งจะทำให้การทำงานของไตลดลง รวมไปถึงการกินสมุนไพรบางอย่างและมักกินแบบเข้มข้น เช่น มะเฟือง ตะลิงปลิง จะทำให้เกิดผลึกไตจนเป็นนิ่วอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะไตวายได้” ผศ.พญ.รัตนา กล่าว
       
       ผศ.พญ.รัตนา กล่าวว่า สำหรับข้อมูลจากในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าหากมีอาการปวดหลังเป็นสัญญาณอันตรายของโรคไตนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการของโรคไตจะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต อย่างเบาหวานและความดันนั้นไม่สามารถสังเกตได้เลยนอกจากการตรวจปัสสาวะ ส่วนอาการปวดหลังนั้นกว่าร้อยละ 80 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคไต แต่ที่เกี่ยวกับไตจริง ๆ มีอยู่ 3 อย่าง และไม่ใช่โรคไตเรื้อรัง คือ 1. กรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อของกรวยไต สาเหตุมาจากการอั้นปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้หญิงจะพบมาก ทำให้เชื้อโรคย้อนเข้าสู่กรวยไตจนอักเสบและติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการปวดหลังข้างใดข้างหนึ่งที่มีการติดเชื้อ ซึ่งภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม แม้การป่วยกรวยไตอักเสบเพียง 1 - 2 ครั้ง จะไม่ทำให้ไตเสื่อมเรื้อรัง แต่ขออย่าอั้นปัสสาวะอีก 2. ถุงน้ำหรือซีสต์ขนาดใหญ่ จนไปขยายทำให้เยื่อหุ้มไตห่างออก ทำให้เกิดอาการปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังใต้ซี่โครง แต่หากซีสต์แตกก็อาจมีเลือดออกทางปัสสาวะให้สังเกตได้
       
       ผศ.พญ.รัตนา กล่าวว่า และ 3. มีนิ่วอุดท่อไต มักจะพบนิ่วหลุดเข้าไปในท่อไตข้างใดข้างหนึ่ง จึงทำให้เกิดการปวดหลังเพียงข้างเดียว โดยจะมีอาการปวดในลักษณะบีบรุนแรงมากและคลายออก เนื่องจากท่อไตจะบีบและคลายตัว เพื่อขับนิ่วที่อุดตันอยู่ให้หลุดไป ซึ่งหากนิ่วหลุดออกไปจากท่อไตก็จะหายจากการปวดหลัง แต่หากนิ่วไม่หลุดออกมาแล้วปล่อยไว้นานหรือไปซื้อยาแก้ปวดมารับประทานและปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้เรื่อย ๆ ก็อาจทำให้กรวยไตอักเสบได้ สำหรับข้อมูลที่แชร์กันว่ามียาบำรุงไตหรือล้างไตได้นั้น ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่าสามารถทำได้ มีแต่ทำอย่างไรไม่ทำให้เป็นโรคไตเร็วขึ้น เช่น ถ้าเป็นโรคเรื้อรังก็ต้องติดตามการรักษาตลอด เพื่อไม่ให้เกิดโรคไตแทรกซ้อน เพียงแต่เมื่อเกิดอาการไตผิดปกติจนเลือดเป็นกรด จะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแรง กล้ามเนื้อสลาย และกระดูกบางลง แพทย์จึงต้องให้ยาเพิ่มความเป็นด่าง เพียงแต่บางครั้งแพทย์อาจบอกให้เข้าใจง่ายว่าเป็นยาบำรุงไต แต่ความจริงไม่ใช่ ส่วนการกินยาล้างไตส่วนมากมักเป็นยาขับปัสสาวะซึ่งมีการผสมเม็ดสีเข้าไป ทำให้เห็นว่าปัสสาวะเป็นสีต่าง ๆ เช่น ฟ้า เขียว ก็เข้าใจว่าเป็นการล้างไต แต่ความจริงไม่ใช่เช่นกัน ตรงนี้ยิ่งทำให้ไตอันตราย และหากไตทำงานดี ปัสสาวะควรออกมาเป็นน้ำใส ๆ

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000016817