อึ้ง! ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขอความช่วยเหลือฉุกเฉินสูงขึ้น ปี 2556 พบสูงถึง 2.4 หมื่นครั้ง ต้องพบแพทย์ภายใน 120 นาที มีโอกาสรอดชีวิต หมอแนะ 6 วิธีดูแลหัวใจให้แข็งแรง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โรคหัวใจส่วนใหญ่ที่คร่าชีวิตคนไทย มักมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งแต่ละปีจะมีแนวโน้มผู้ป่วยในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2556 สพฉ.ได้รับการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 และได้ออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บแน่นทรวงอกจากปัญหาด้านหัวใจ 24,252 ครั้ง จากอาการหายใจลำบาก 82,364 ครั้ง และจากอาการหัวใจหยุดเต้น 852 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่มากขึ้นกว่าปี 2555
นพ.อนุชา กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว มีไขมัน หรือแคลเซียมไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลงพักทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทร.แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบอมยาใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการ
พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล แพทย์จากโรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI) จะทำได้ใน 2 กรณีคือ การทำ CPI หรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด และการฉีดยาเพื่อขยายลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งการรักษานั้นหากได้รับการช่วยเหลือที่เร็ว ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสรอดสูงขึ้น และหากได้รับการรักษาพยาบาลเกิน 6 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง และโอกาสที่จะกู้คืนกล้ามเนื้อหัวใจจะเป็นไปได้น้อย
“ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะต้องมาพบแพทย์ภายในระยะเวลา 120 นาที โดย 5 นาทีแรก ผู้ป่วยจะต้องประเมินตนเองได้ว่ามีอาการของโรค และ 8 นาทีต่อมา ระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องเข้าไปนำผู้ป่วยมาส่งที่โรงพยาบาล และผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มากับรถฉุกเฉินจะต้องวินิจฉัยโรคให้ได้ ต้องให้ยาในรถฉุกเฉินทันที เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย และหากให้ยาเองไม่ได้ จะต้องตัดสินใจในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำบอลลูนขยายหลอดเลือดได้ ซึ่งถ้ามาถึงโรงพยาบาลภายใน 30 นาที โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตก็จะมีเพียงร้อยละ 3 และหากมาถึงภายใน 90 นาที โอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะมีมากขึ้นเป็น ร้อยละ 5-6 และหากเกิน 12 ชั่วโมงจะมีโอกาสรอดชีวิตต่ำมาก” พญ.อรินทยา กล่าว
พญ.อรินทยา กล่าวว่า วันแห่งความรักนี้อย่าลืมดูแล “หัวใจ” ให้แข็งแรง โดยวิธีง่ายๆ คือ 1.ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 2.หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป เพราะจะทำให้มีเกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด โดยควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมากๆ 3.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด และยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว 4.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน 5.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป และ 6.ตรวจเช็กสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆ หายๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
* ขอบคุณบทความจาก : http://www2.manager.co.th/Election48/ViewNews.aspx?NewsID=9570000017440