นัดพบแพทย์

กระดูกหนูไม่แข็งแรง พ่อแม่ทำอย่างไร

31 Aug 2016 เปิดอ่าน 6023

กระดูกก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โรคกระดูกที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยอนุบาลจะแบ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดและโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยโรคกระดูกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดจะส่งผลให้แขนขาบิดเบี้ยวหรืองอไป

น.พ.ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกและข้อ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน เล่าว่าโรคกระดูกที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยอนุบาลจะแบ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดและโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดจะส่งผลให้แขนขาบิดเบี้ยวหรืองอไป

โรคที่เกิดขึ้นภายหลังและพบบ่อยที่สุด คือเรื่องของการบาดเจ็บ เพราะวัยนี้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปได้ดี เด็กค่อนข้างจะไม่อยู่เฉย การบาดเจ็บที่เกิดจากการหกล้ม ตกชิงช้า ตกม้าลื่น จึงเป็นเรื่องที่พบบ่อย จึงส่งผลให้กระดูกหัก กระดูกแตก ข้อแพลง เป็นต้น

หากลูกได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นกระดูกหักหรือแตก
สิ่งแรกที่ควรทำคือการดาม โดยม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์ให้หนาๆ ใช้ผ้าพันกระดาษหนังสือพิมพ์กับแขนเจ้าหนูไว้ แล้วอยู่นิ่งๆ หรือคล้องแขนด้วยผ้าสามเหลี่ยม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
หากเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณหลัง ต้องให้เด็กนอนบนกระดานแผ่นใหญ่ แล้วจึงเคลื่อนย้าย
การรักษาส่วนใหญ่คือ ต้องใส่เฝือกหรือมีบางตำแหน่งที่ต้องผ่าตัดเพื่อดามเหล็ก และผ่าตัดอีกครั้งในช่วงที่นำเหล็กออก

กระดูกอ่อนๆ ของลูก
กระดูกของเด็กวัยนี้จะนิ่มหรือมีความยืดหยุ่นได้ดีกว่ากระดูกผู้ใหญ่ ถ้าในกรณีที่กระดูกหักไม่รุนแรงการรักษาจึงทำได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียจะไปอยู่ที่การวินิจฉัยค่ะ เพราะขณะที่กระดูกแตกจะแตกไปถึงกระดูกอ่อน ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยากกว่า การเอ็กซเรย์จุดที่ได้รับการบาดเจ็บเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงต้องมีการตรวจร่างกาย หรือบางรายจะต้องมีการตรวจคลื่นแม่เหล็กร่วมด้วยค่ะ

ลักษณะของกระดูกอ่อนในเด็กที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ

ทำหน้าที่ให้กระดูกงอกยาวออกไป ถ้ากระดูกอ่อนเหล่านี้แตกก็จะทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดไปจากธรรมดา แม้ว่าจะมีการรักษากระดูกแตกให้ติดกันแล้วก็จริงอยู่ แต่เซลล์ของกระดูกอ่อนตายไปแล้ว เมื่อผ่านไป 2-3 ปี จะเห็นค่อนข้างชัดขึ้นว่าการงอกของกระดูกบิดเบี้ยว แขนขาจะโก่งงอ ดังนั้นหลังจากที่รักษาอาการกระดูกแตกหรือหักแล้วให้ติดเรียบร้อยแล้วในขั้นต้น ควรไปพบคุณหมออย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 ปี บางคนอาจจะต้องใช้เวลาถึง 4 ปี

กะเผลกอย่างนี้...น่าเป็นห่วงนะ
เมื่อเห็นว่าเจ้าตัวเล็กมีอาการเดินไม่ถนัด เดินกะเผลก ถ้าหากว่าไม่เห็นกับตาว่าลูกล้มลงกับพื้นและปวดขาทันทีจนต้องเดินกะเผลกนั้น ไม่ควรแจ้งกับคุณหมอว่าน้องเดินกะเผลกเพราะล้ม เพราะคุณหมอจะมุ่งการวินิจฉัยไปที่การบาดเจ็บทันที

ซึ่งอันที่จริงอาการกะเผลกมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ

1. โรคติดเชื้อของกระดูกหรือท่อ เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรีบรักษาภายใน 3 วัน อาการที่พบ คือ
หากปวดที่บริเวณใดก็จะไม่ขยับเขยื้อนบริเวณนั้น เช่น ไม่ยอมยกแขนซ้ายเพราะปวดแขนซ้าย ไม่ยอมเดิน เพราะปวดที่ขา
บริเวณที่ปวดจะแดง บวมและร้อน
มีไข้ร่วมด้วย

สาเหตุมาจาก 3 ทางด้วยกัน คือ
1. เชื้อโรคเข้าทางบาดแผลไปตามกระแสเลือดแล้วมาเกาะอยู่ที่กระดูกหรือข้อก็จะมีการติดเชื้อที่บริเวณนั้น
2. เกิดบาดแผลทิ่มลึกจนถึงข้อ เช่น หกล้มแล้วหินแหลมคมปักหรือทิ่มไปจนถึงกระดูกหรือข้อ เชื้อโรคจึงเกาะบริเวณนั้น
3. เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากช่องทางอื่นๆ เช่น โรคหูน้ำหนวก เชื้อโรคที่อยู่ในหูก็จะกระจายไปเกาะที่บริเวณกระดูก

2. โรคเยื่อบุข้อสะโพกอักเสบ อาจมีปัญหาอยู่ที่การวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นโรคเยื่อบุข้อสะโพกอักเสบหรือเป็นโรคติดเชื้อของกระดูกหรือท่อ เนื่องจากมีอาการเดียวกัน จึงต้องหาเชื้อโรคให้พบด้วยการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ หรือเจาะข้อหรือกระดูกดูดเอาน้ำมาเพาะเชื้อดู จะได้ให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาได้ทัน

"ถ้าเป็นแค่กล้ามเนื้ออักเสบ นอกเหนือจากการกินยาควรมีการบีบเบาๆ และประคบด้วยผ้าอุ่นๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดดีชึ้น กล้ามเนื้อหายอักเสบเร็วขึ้น แต่ข้อสำคัญห้ามบีบแรงและผ้าที่ประคบจะต้องไม่ใช้น้ำร้อนเกินไป"

3. โรคสมองพิการ (Cerebral palsy หรือ CP) เป็นอาการกะเผลกต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็ก สาเหตุจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่หรือระหว่างคลอด หรือภายในขวบปีแรก เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ แม่เป็นโรคไวรัสบางชนิด เช่น เริม หรือขณะคลอดสมองขาดออกซิเจน อุบัติเหตุจากการผ่าออก และเมื่อคลอดแล้วในขวบปีแรกถูกวัตถุล้มทับจนเลือดออกในสมอง

ความพิการเกิดขึ้นที่การเคลื่อนไหวแขนขา จะกระตุก กะเผลก เดินเป๋ มีตั้งแต่เป็นไม่มาก เดินเร็วๆวิ่งเร็วๆจะมองไม่เห็นอาการ ถ้าเดินธรรมดาจะมองเห็น ไปจนถึงเป็นแบบเดินไม่ได้เลย แสดงว่าสมองได้รับความเสียหายมาก

"อาการที่แสดงออกจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ากระเทือนสมองส่วนไหนและกินเนื้อที่สมองบริเวณนั้นกว้างหรือไม่ โดนแต่แขน ขาข้างเดียวหรือขาสองข้าง แม้ว่าโรคนี้จะเป็นตั้งแต่เด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบ แต่ว่าในเด็กเล็กการวินิจฉัยทำยาก เพราะเวลาตรวจให้ยกขา ก็ยกไม่ค่อยได้ หรือเด็กเล็กๆ นอนแบเบาะยังเดินไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าเดินไม่ได้ ต้อง 2-3 ขวบถึงจะรู้ว่าเดินช้าหรือเดินเป๋ บางครั้งอาจจะต้องถึง 4 ปีถึงจะรู้ครับ"

4. หัวกระดูกสะโพกขาดเลือด พบบ่อยในช่วงอายุ 4-10 ปี จะแสดงอาการเดินกะเผลก ปวดบริเวณหน้าขา แถวๆเข่า แต่จริงๆแล้วโรคนี้จะเกิดขึ้นที่สะโพก เนื่องจากการสั่งงานของเส้นประสาทในเด็กวัยนี้จะส่งความรู้สึกปวดไปที่สมองว่าปวดที่เข่า หรือหน้าขา แต่พอโตขึ้นการสั่งการอย่างนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
อาการปวดที่เป็นจะปวดทีละข้างเมื่อรักษาหายข้างหนึ่งแล้วไม่นานก็จะเป็นอีกข้างหนึ่ง มักจะพบในเด็กที่ค่อนข้างชอบวิ่งเล่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้การรักษามักต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน หรืออาจต้องผ่าตัด

5. เนื้องอกหรือมะเร็ง จะเริ่มต้นกะเผลกทีละนิด กินเวลาไปหลายปีกว่าจะรู้สึกเจ็บ และยิ่งรุนแรงขึ้นทุกวัน ซึ่งจะพบได้น้อยมาก หากพบว่าเป็นเนื้องอกก็พบว่าไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเป็นมะเร็งพบว่าเด็กจะผอมซูบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง เดินกะเผลก นั่งเฉย และไม่ยอมวิ่งเล่น

หนูก็เมื่อยเป็นนะ
เนื่องจากธรรมชาติของเด็กที่ไม่อยู่นิ่ง วิ่งเล่นไปมา การปวดเมื่อยก็เกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ ซึ่งจะแสดงอาการตอนช่วงเย็นๆ หรือตอนกลางคืน เมื่อทายาหม่องพร้อมทั้งบีบเบาๆ ประมาณ 10 นาทีก็หาย พอตื่นเช้ามาก็จะไม่มีอาการปวดเลย แต่พอตกเย็นก็ปวดอีกถ้าหากยังวิ่งเล่นเหมือนเดิม

ข้อสังเกต คือการปวดลักษณะนี้จะต้องไม่เป็นการปวดต่อเนื่อง ถ้าปวดทั้งคืนแล้วไม่หาย หรือมีอาการกะเผลกร่วมด้วย อาจจะไม่ได้มาจากสาเหตุการเมื่อยแบบธรรมดา ควรพาเด็กไปพบคุณหมอแล้วล่ะค่ะ

คุณหมอปริยุทธิ์ ได้เล่าต่อถึงโรคจากพันธุกรรมด้วยค่ะว่าโรคจากพันธุกรรมที่ร้ายแรงคือ โรค Uchene muscular dystrophy เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง เด็กอายุประมาณ 5 ปี จะไม่มีแรงโดยเริ่มจากที่ขาก่อน ลุกนั่งไม่ค่อยได้ แล้วก็เป็นทั่วตัว ไม่มีแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะเดินไม่ได้ พออายุประมาณ 15 ปี แรงในการกลืนหรือว่าการหายใจก็จะไม่มีและในช่วง 15-18 ปีก็จะเสียชีวิต

ช่วงอายุ 3-6 ปีนี้ถือเป็นโอกาสทองของการดูแลและบำรุงให้กระดูกแข็งแรงมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ เพราะกระดูกจะหยุดการเจริญเติบโตที่อายุ 25 ปี ดังนั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายที่เพียงพอ คือ สิ่งที่กระดูกต้องการค่ะ

ร่างกายต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกที่แข็งแรง
นอกจากแคลเซียม ฟอสฟอรัสแล้ว กระดูกจะเจริญเติบโตได้ดี ก็ต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ด้วยเช่นกัน
แคลเซียมต้องอาศัยวิตามินดีที่จะสกัดแคลเซียมเข้าไปในกระดูก
การออกกำลังกายจะช่วยให้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทำงานในการจับแคลเซียมไปสู่กระดูก ซึ่งการออกกำลังกายที่ดีก็คือการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักกดไปที่กระดูก เช่น กระโดด

นวดอย่างนี้ ไม่ดีนะ
ความเข้าใจผิดบางประการที่ค่อนข้างส่งผลร้ายต่อกระดูกของลูก คือ เมื่อลูกปวดเมื่อยแขนขา การพาไปให้หมอที่อยู่ตามบ้านหรือผู้ใหญ่ที่ชำนาญการนวด นวดให้กับเด็กๆ การนวดอย่างไม่ถูกต้องจะทำให้กระดูกเด็กบิดเบี้ยว เก ไม่ได้รูป จนบางครั้งส่งผลถึงขั้นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขสิ่งผิดปกติจากการนวด
บางคนพาไปนวดเพื่อต้องการให้เจ้าหนูตัวสูงคิดว่าการนวดจะช่วยยืดกระดูกให้ยาวขึ้น ก็ไม่เป็นจริงเช่นกัน เพราะกระดูกของเด็กจะมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว ดังนั้น ก็จะยืดตามวัยและการดูแลนั่นเองค่ะ
แหล่งแคลเซียม...บำรุงกระดูกนมและผลิตภัณฑ์ของนมเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญ แคลเซียมพบมากในผักใบเขียวทุกชนิด เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาด กระดูกต่างๆ ก็เป็นแหล่งแคลเซียมเช่นกัน โดยเฉพาะกระดูกปลาที่สามารถเคี้ยวกลืนได้ เช่น ปลากรอบตัวเล็กๆ

 

* ขอบคุณที่มา : momypedia