นัดพบแพทย์

การดูแลตับในผู้ดื่มสุรา

03 Sep 2016 เปิดอ่าน 1484

ความสำคัญของตับ และโรคตับเรื้อรัง“ตับ”เป็นอวัยวะที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น เป็นแหล่งสะสมสารอาหารเพื่อเป็นพลังงาน เป็นแหล่งกำจัดของเสียที่เกิดในร่างกายรวมทั้งสารพิษสารเคมีต่างๆจากภายนอก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตโปรตีนที่สำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย 


โรคตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็ง พบได้บ่อยพอสมควร และทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละหลายพันคน โดยสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี, การดื่มสุรา และไขมันเกาะตับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับเรื้อรัง มักไม่มีอาการใดๆในระยะแรก ยกเว้นในบางรายจะมีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ การตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติ การตรวจเลือดประเมินการทำงานของตับจะพบระดับเอนไซม์ตับ (ALT และ AST) สูงผิดปกติ เมื่อเกิดการอักเสบของตับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้จำนวนเซลล์ตับและการทำงานของตับจะลดลง มีพังผืดเข้ามาแทนที่ หรือที่เราเรียกว่า”ตับแข็ง” ผู้ป่วยตับแข็งระยะแรกอาจไม่มีอาการ (แม้ว่าการทำงานของตับจะลดลงเหลือไม่ถึง 50% แล้วก็ตาม) จนเมื่อตับแข็งรุนแรงมากขึ้น จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเบื่ออาหาร เท้าบวม/ท้องบวม ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ติดเชื้อง่าย สับสนจากของเสียคั่ง และเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อน โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยตับแข็งที่เริ่มมีอาการจะมีชีวิตอยู่ได้เฉลี่ยเพียง 2-3 ปีเท่านั้น (ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม) 


โรคตับจากสุราเป็นที่ทราบกันดีว่าการดื่มสุราสามารถทำให้เกิดโรคตับได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำลายเซลล์ตับได้โดยตรง และยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและสารอนุมูลอิสระมาทำลายตับเพิ่มเติมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผู้ดื่มสุราจำเป็นต้องเกิดโรคตับเรื้อรังหรือตับแข็งทุกคน โดยโอกาสเกิดโรคตับจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์ และปัจจัยเฉพาะตัวบุคคล (เพศ น้ำหนักตัว และกรรมพันธุ์) ทั่วไปแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณ >20 กรัม/วันในผู้หญิง และ >40 กรัม/วันในผู้ชาย ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคตับได้ >80% โดยเริ่มจากการมีไขมันเกาะตับ และ 30-50% อาจเกิดการอักเสบและพังผืดตามมาจนเกิดตับแข็งและตับวายได้ ทั้งนี้แอลกอฮอล์ 10 กรัมเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ 1 กระป๋อง (360 มิลลิลิตร) หรือดื่มไวน์ 1 แก้ว (120 มิลลิลิตร) หรือวิสกี้/เหล้าขาว 1 เป๊ก (36 มิลลิลิตร) นอกจากการดื่มสุราแบบเป็นประจำแล้ว ยังพบว่าการดื่มแบบนานๆครั้ง เป็นปริมาณมาก (ครั้งละ >60-80 กรัม) ก็สามารถทำให้เกิดโรคตับได้เช่นกัน


การดูแลตับในผู้ดื่มสุรา

  • ดื่มสุราในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่เกินปริมาณที่อาจเป็นอันตราย (ดังระบุไว้ข้างต้น เช่น ผู้หญิงไม่ควรดื่มเบียร์เกินวันละ 2 กระป๋อง) 
  • ควรตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะ โดยแจ้งแพทย์ว่าต้องการตรวจเกี่ยวกับตับ และไวรัสตับอักเสบ (ซึ่งพบบ่อยในประเทศไทย และอาจซ่อนอยู่โดยไม่มีอาการใดๆ) กรณีที่พบโรคตับเรื้อรังจากสาเหตุอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (หรือดื่มให้น้อยที่สุด กรณีโรคตับไม่รุนแรง)
  • หลีกเลี่ยงการทานยาโดยไม่จำเป็น (รวมทั้งยาสมุนไพร และอาหารเสริม) เนื่องจากอาจมีผลเสียต่อตับมากขึ้น และทำให้การติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคของแพทย์ลำบากขึ้น สำหรับยาพาราเซตามอล ไม่ควรทานเกินวันละ 4 เม็ด และไม่ควรทานติดต่อกันหลายวัน ทั้งนี้การทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินเอ หรือธาตุเหล็กที่มากเกินไปก็อาจมีผลเร่งการเกิดพังผืดในตับได้
  • กรณีที่มีโรคตับจากสุราเกิดขึ้นแล้ว ควรติดตามการรักษากับแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ โดยการรักษาที่ดีที่สุด คือหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมักทำให้การทำงานของตับดีขึ้นใน 3-6 เดือน ในบางกรณี เช่นการทำงานของตับดีขึ้นช้า ไม่กลับเป็นปกติ หรือยังหยุดสุราไม่ได้ อาจพิจารณาทานยาลดการอักเสบของตับ เช่น ยา silymarin ซึ่งมีข้อมูลว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถลดการอักเสบของตับจากหลากหลายสาเหตุ รวมทั้งจากสุราได้ 

ผศ.นพ. เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://talk.mthai.com/topic/439802