นัดพบแพทย์

'การปลูกถ่ายกระดูกอ่อนสำหรับข้อเข่า'

03 Sep 2016 เปิดอ่าน 11873

ข้อเข่ามีกระดูกอ่อนเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่บริเวณผิวสัมผัสของข้อ ซึ่งจะช่วยดูดซับแรงกระแทกของเข่า ช่วยให้การเคลื่อนไหวของ ข้อเข่าราบรื่นไม่มีอาการสะดุด สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ และเล่นกีฬาได้โดยไม่มีอาการเจ็บ ปกติผิวกระดูกอ่อนนี้จะบางลงรวมถึงมีการเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในบางภาวะอาจจะมีการหลุดลอกของผิวกระดูกอ่อนได้ก่อนวัยอันควร (ก่อนอายุประมาณ 40-45 ปี) ซึ่งส่วนมากมักเกิดหลังอุบัติเหตุ หลังบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ การหลุดลอกของผิวกระดูกอ่อนนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดเข่า มีอาการอักเสบบวมของข้อเข่า รวมถึงอาจจะรู้สึกสะดุดและขัดในข้อเข่า ทำให้รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน และบ่อยครั้งที่ไม่สามารถเล่นกีฬาได้ ในรายที่การหลุดลอกของผิวกระดูกอ่อนมีขนาดใหญ่
ผิวกระดูกอ่อนที่มีการลอกหลุดออกจนเห็นชั้นกระดูกข้างใต้ หากไม่ทำการรักษาอาจจะเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นรวมถึงการ หลุดลอกที่ขยายวงใหญ่มากขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร การรักษาภาวะดังกล่าวในปัจจุบันสามารถทำการปลูกถ่ายกระดูกอ่อน (Mosaicplasty or Osteochondral Autograft Transplant) โดยการนำชิ้นกระดูกอ่อนภายในเข่าข้างเดียวกัน บริเวณที่ไม่ได้รับน้ำหนักหรือไม่ถูกแรงสัมผัสมากนักมาปลูกถ่ายลงบริเวณที่เป็นพยาธิสภาพ

การปลูกถ่ายดังกล่าวสามารถทำผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก หรือผ่านการส่องกล้องก็ได้ ขั้นตอนในการปลูกถ่ายโดยทั่วไปจะใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 6.5 มิลลิเมตร ตอกเอากระดูกอ่อน มาจากบริเวณที่ไม่ได้รับน้ำหนักหรือไม่ถูกแรงสัมผัสมากดังที่กล่าวข้างต้น เป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปฝังบริเวณพยาธิสภาพที่ได้ถูกเตรียมไว้โดยการเจาะให้เป็นหลุมขนาดเท่า ๆ กับกระดูกอ่อนที่จะมาปลูกถ่าย

ถ้าหากบริเวณที่กระดูกอ่อนหลุดลอกมีขนาดใหญ่ก็สามารถที่จะปลูกถ่ายกระดูกอ่อนมากกว่า 1 ชิ้นลงไปได้ ภายหลังการปลูกถ่ายกระดูกอ่อนผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงขณะเดินนานประมาณ 6 สัปดาห์ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระดูกอ่อนที่ปลูกใหม่ได้รับแรงกระแทกมากเกินไป พร้อมกันนี้ยังมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและพละกำลังของกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วย

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3-6 เดือนจะเกิดการซ่อมแซมของผิวกระดูกอ่อนบริเวณที่เคยมีปัญหาจนกระทั่งรอยต่อของกระดูกอ่อนที่นำมาปลูกถ่ายเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกับกระดูกอ่อนรอบข้าง ดังภาพที่ 5 ผลการรักษามักจะได้ผลดีถึง 80-95% อาการปวดขัดหรือบวมจะหายไปเนื่องจากผิวกระดูกใหม่ที่เรียบขึ้นและดูดซับแรงกระแทกได้ดีขึ้น

มีการซ่อมแซมของผิวกระดูกอ่อนภายหลังการปลูกถ่ายกระดูกอ่อน นอกเหนือจากวิธีดังกล่าวแล้วยังมีเทคนิค อื่น ๆ ที่นิยมใช้ซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อนอันได้แก่ การเจาะกระดูกบริเวณที่ผิว กระดูกอ่อนหลุดลอกออก (Microfracture) เพื่อเป็นการกระตุ้นเซลล์ข้างใต้ให้ทำงาน มักนิยมใช้ ในกรณีที่พยาธิสภาพมีขนาดไม่ใหญ่ อีกวิธีคือการปลูกถ่ายเซลล์กระดูก อ่อนจากการเพาะเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อน (Autologous Chondrocyte Implantation) ซึ่งมักใช้เฉพาะในกรณีที่พยาธิสภาพมีขนาดใหญ่มากเนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากกว่าวิธีอื่น ๆ โดยจะต้องนำเซลล์กระดูกอ่อนออกมาจากข้อเข่าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเซลล์แล้วจึงนำกลับมาปลูกถ่ายลงบริเวณพยาธิสภาพของข้อเข่าอีกครั้งหนึ่ง

พ.อ.รศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.osknetwork.com/modules.php?file=article&name=News&sid=3424