นัดพบแพทย์

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ

09 Jan 2017 เปิดอ่าน 2549

แนวทางการรักษามะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี แต่ต้องคำนึงถึงสภาพและความรุนแรงของโรคตับที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่ก่อนแล้ว เช่น หากโรคตับแข็งของผู้ป่วยอยู่ในระยะที่การทำงานของตับไม่ดีหรืออยู่ในระยะท้ายๆ ของโรค การรักษามะเร็งตับ อาจมีข้อจำกัดได้ นอกจากนั้นขนาดของมะเร็งตับและการแพร่กระจายของมะเร็งก็มีความสำคัญต่อแนวทางการรักษาด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคตับที่เป็นพื้นฐานอยู่เดิม พร้อมๆ ไปกับการรักษามะเร็งตับ

วิธีการรักษามะเร็งตับ ได้แก่
1.การผ่าตัด ทำได้ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภาวะตับแข็งหรือเป็นตับแข็งระยะแรก และก้อนมะเร็งมีขนาดไม่โตมาก และยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง

2.การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง ผ่านทางผิวหนัง ในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็ก
3.การใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงทำลายก้อน โดยใช้เข็มสอดผ่านทางผิวหนัง (Radiofrequency Ablation) คลื่นเสียงนี้ก่อให้เกิดความร้อน จนสามารถทำให้เซลล์มะเร็งตายได้

4.การฉีดยาเคมีผ่านทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง ร่วมกับการใช้สารอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง (Chemoembolization) เป็นการลดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง และให้ยาเคมีเพื่อทำลายเนื้อมะเร็งโดยตรง

5.ยาเคมีบำบัดโดยใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เพื่อลดการเจริญเติบโตของมะเร็ง เช่น ยา Sorafenib

6.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
การเฝ้าระวังและการป้องกันการเกิดมะเร็งตับ
1.รับประทานอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วป่นและพริกแห้ง ซึ่งอาจมีสารอัลฟาท็อกซินปนเปื้อนอยู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

2.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
3.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
4.ในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้ว ควรได้รับการตรวจเลือด และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน อย่างสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือน เพื่อเฝ้าระวังมะเร็งตับ

ข้อมูลจาก น.พ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดิน


ขอบคุณบทความจาก : http://www.ryt9.com/s/bmnd/1826948