นัดพบแพทย์

รู้ไว้ป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ

09 Jan 2017 เปิดอ่าน 2002

มีคำถามเข้ามาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ถึงอาการและสาเหตุของการเกิดโรค "ไวรัสตับอักเสบซี" ซึ่งต้องขอขอบคุณสำหรับคำถาม ซึ่งความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว คุณหมอจะมาตอบไม่ใช่แค่เฉพาะไวรัสตับอักเสบซีเท่านั้น ไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น ๆ ก็มีความอันตรายและสาเหตุการเกิดโรคที่สำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้น คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพสัปดาห์นี้ มาทำความเข้าใจกันถึงไวรัสตับอักเสบหลากหลายชนิด เพื่อที่จะทำให้เกิดความตระหนักในการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้น

          คำถามแรกที่ผู้ป่วยมักจะถามเมื่อมาทำการรักษาก็คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดใดบ้างที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คำตอบก็คือ มีหลากหลายชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี ซึ่งไวรัสทั้งสามชนิดจะมีการติดต่อแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส ดังเช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ และ อี สามารถติดต่อได้จากการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ขณะที่ไวรัสตับอักเสบ บี ซี และ ดี สามารถติดต่อกันได้ทางเลือด ทางสารคัดหลั่ง เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ป่วย การมีเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ทารกในครรภ์ในไวรัสตับอักเสบ บี

          คำถามถัดมาก็คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ จะมีอาการอย่างไร คำตอบก็คือ ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะแบ่งอาการออกเป็นระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ซึ่งพบเฉพาะในไวรัสตับอักเสบบี ซี และ ดี โดยที่ผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีความผิดปกติของผลเลือดที่แสดงการทำงานของตับ ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังอาจไม่แสดงอาการ หรือความผิดปกติของการทำงานของตับได้ แต่อาจตรวจพบจากการตรวจแอนติบอดีหรือตรวจพบไวรัส

          นอกจากนี้โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี และซี ยังทำให้เกิดการอักเสบภายในตับ ซึ่งนำไปสู่ภาวะตับแข็ง เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยตับแข็งจากการรับประทานสุราเรื้อรัง ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่รับประทานสุรา จะเกิดภาวะตับแข็งได้เร็วขึ้น ภาวะตับแข็งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร น้ำในช่องท้อง ความผิดปกติในสมอง ไตวาย และเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งในตับได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า แต่ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี อาจเกิดมะเร็งในตับขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ส่วนในผู้ป่วยภาวะตับแข็งระยะท้าย ๆ มีโอกาสที่จะเกิดตับวายหรือมีการทำงานของตับลดลง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น


ไวรัสตับอักเสบ



ส่วนการรักษาจะแบ่งตามชนิดและระยะของโรค

           ไวรัสตับอักเสบเอ รักษาตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะหายได้เองเกือบทั้งหมด และในประเทศไทยผู้ใหญ่ส่วนมากจะมีภูมิป้องกันเชื้อ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในวัยเด็กอยู่แล้ว

           ไวรัสตับอักเสบบี หากได้รับเชื้อจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์ หรือในวัยเด็กจะมีการติดเชื้อเรื้อรังได้สูงมากกว่า เมื่อได้รับเชื้อในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งได้เป็นยาฉีดกลุ่มอินเตอร์เฟอรอน (Interferon-based) และยารับประทานต้านไวรัส (Antiviral therapy) โดยผลของการรักษาและระยะเวลารักษาจะแตกต่างกันตามชนิดการรักษา ซึ่งโดยรวมแล้วโอกาสหายขาดจากไวรัสตับอักเสบเรื้อรังค่อนข้างมีน้อย แต่การรักษาจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับ และชะลอหรือหลีกเลี่ยงภาวะตับแข็งได้ แต่เนื่องด้วยการใช้ยาฉีดกลุ่มอินเตอร์เฟอรอน (Interferon-based) มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ว่ามีระยะเวลาของการรักษาที่แน่นอน และไม่พบการดื้อยาหรือการกลายพันธุ์ของไวรัส  ยกเว้นมีผลข้างเคียง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้าม เนื้อ และในส่วนน้อยของผู้ที่มีการทำงานของตับลดลง เช่น เป็นตับแข็งระยะสุดท้าย อาจเกิดภาวะตับวายได้ ทำให้การใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ซึ่งมีหลายชนิดมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ระยะเวลาการรักษายาวนานกว่ายาฉีด และอาจพบการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือเกิดการดื้อยา จนเป็นเหตุทำให้ต้องใช้ยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิด ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การรักษาทั้งสอง วิธีจะต้องติดตามอาการดูผล ข้างเคียงของยา และผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้ผลการรักษาลดลงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

           ไวรัสตับอักเสบซี หลังจากได้รับเชื้อไวรัสแล้ว พบว่า 80% ของผู้ป่วยจะเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มอินเตอร์เฟอ รอน (Interferon-based) ร่วมกับยาต้านไวรัสชื่อไรบาไวริน (Ribavirin) โดยระยะเวลาและผลการรักษา ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสที่ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพิ่มเติม  ส่วนโอกาสที่เชื้อไวรัสจะหายไปมีประมาณ 40-80% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส ผลข้างเคียงของการรักษาทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ โลหิตจาง และซึมเศร้าได้

          จากที่กล่าวมาข้างต้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยสามารถลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และรักษาด้วยยาฉีดในกรณีที่มีการสัมผัสเชื้อไวรัส ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคตับอักเสบเอ และ บี แล้ว แต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับ หากสงสัยว่าผู้ป่วยภายในบ้านเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี คนในบ้านก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย และให้ละเว้นการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน พยายามไม่ให้มีการสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งร่วมกับผู้ป่วย เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน เข็มฉีดยา เป็นต้น 

          นอกจากนี้ ถ้ามีเลือดผู้ป่วยหยดภายในบ้านควรล้างด้วยน้ำสะอาด และให้ยาฆ่าเชื้อโรคในปริมาณที่เหมาะสม แต่สำหรับการรับประทานข้าวร่วมโต๊ะ การจับมือสัมผัสกรณีที่ไม่มีบาดแผลเปิด จะไม่นำไปสู่การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ควรรับประทานอาหารที่สุกและสะอาด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรไปพบแพทย์เป็นประจำ ถ้ามีภาวะตับแข็งแล้ว ควรได้รับการตรวจเพื่อเฝ้าระวังมะเร็งตับทุก 6-12 เดือน โดยการตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจเลือด หรือการตรวจ CT-Scan ซึ่งถ้าพบมะเร็งในระยะแรกๆ จะสามารถให้การรักษาได้ทันเวลา ซึ่งการรักษาได้ผลดีกว่าการพบก้อนมะเร็งในตับขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายไปในอวัยวะอื่น ๆ แล้ว

โดย นพ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ หน่วยโรคทางเดินอาหารฯ ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณบทความจาก : http://health.kapook.com/view1234.html