นัดพบแพทย์

ข้อมูลน่ารู้และวิธีรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

12 Aug 2016 เปิดอ่าน 2072

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

     น้ำผึ้งทำงานเป็นช่างเสริมสวย ทุกวันหลังจากปิดร้าน เธอก็ต้องกลับมาทำงานบ้านและเตรียมอาหารไว้ให้ลูกสาว แต่วันนี้วิภาเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติเกิดขึ้น ขณะกำลังล้างจาน เธอสังเกตเห็นรอยถลอกและช้ำรอบ ๆ บริเวณนิ้วมือ เธอจึงใช้โลชั่นทามือ
     3 สัปดาห์ผ่านไป แม้ว่าเธอจะหมั่นทาครีมบำรุงมืออยู่เสมอ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น เธอรู้สึกเมื่อยล้าร่างกายอย่างบอกไม่ถูก ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนักกว่าเดิมเลย แต่เธอก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามวัย หลังจากนั้น 1 เดือนมีอาการใหม่เกิดขึ้น เมื่อเธอมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน ทั้ง ๆ ที่ประจำเดือนหมดแล้ว
     เช้าวันหนึ่ง ขณะตื่นนอนและกำลังจะลุกจากที่นอนตามปกติ จู่ ๆ ร่างกายของเธอกลับไม่มีแรง ทำให้ไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ จึงไปพบแพทย์และตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะเริ่มต้น

 กลุ่มเสี่ยง
     มักจะเป็นในกลุ่มคนที่มีช่วงอายุใกล้วัยทอง วัยที่จะหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนไปแล้ว พบน้อยในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี คนที่ไม่เคยมีบุตรเลยจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีบุตรแล้ว

 อาการที่พึงระวัง
     อาการเริ่มแรกที่พบมากที่สุดประมาณ 95% คือเลือดออกผิดปกติผู้อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว แต่มีเลือดออกคล้าย ประจำเดือน ขณะที่ในบางคน เช่น ประจำเดือนมาแค่ 3 วันโดยปกติจะหมดแล้ว แต่ยังมาต่ออีกแบบกะปริบกะปรอย

 ลักษณะของโรค
     โพรงมดลูกมีปีกมดลูก 2 ข้าง ถ้าเราผ่ามดลูกเข้าไปจะเห็นสิ่งที่เหมือนชมพู่หัวคว่ำ ข้างในเป็นโพรงเรียกว่า โพรงมดลูกซึ่งในโพรงมดลูกนี้ประกอบด้วยเยื่อบุโพรงมดลูก ตรงนี้จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ จากสาเหตุที่แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย คือปัจจัยภายในที่เห็นเด่นชัด คือ พันธุกรรมและปัจจัยภายนอก เช่น มีการรับประทานฮอร์โมน อาหารเสริมสมุนไพรบางอย่างที่มีลักษณะเพิ่มฮอร์โมนให้มีมากกว่าลักษณะธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นฮอร์โมนที่รับประทานสำหรับคนวัยทองหรือคนวัยหมดประจำเดือน
     สิ่งที่จะบ่งบอกได้ถึงปัจจัยการเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ การบันทึกการมาของประจำเดือน 3 เดือนติดต่อกันถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก รอบประจำเดือน ลักษณะปริมาณการไหลของประจำเดือนในเดือนถัด ๆ ไป เช่น ประจำเดือนมาก่อนกำหนด ก็ต้องดูว่าสิ่งนั้นใช่ประจำเดือนหรือไม่ อาจเป็นเลือดที่ออกผิดปกติ ในขณะเดียวกัน บางคนประจำเดือนมาแค่ 3 วัน โดยปกติจะหมดแล้ว แต่ยังมาต่ออีกแบบกะปริบกะปรอย หรือหมดไปแล้วแต่มีประจำเดือนออกมาไม่ตรงตามรอบที่ควรจะเป็น มีรอยแดงชัดเจนบริเวณเล็บมือ รู้สึกเมื่อยล้าจนผิดปกติ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ถ้าตรวจพบ
     โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกถ้าปล่อยให้มะเร็งเจริญเติบโตไปทั่วมดลูก จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นหนึ่งในโรคที่สุภาพสตรี ควรระวังมากที่สุด สำหรับคนเคยมีบุตรแล้ว ช่วงมีบุตร 9-10 เดือน มดลูกมีโอกาสได้พัก จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ยังไม่มีบุตร อย่างไรก็ตาม คนที่มีบุตรแล้วมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนที่ยังไม่มีบุตร

     โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และโดยสถิติแล้วผู้ป่วยประมาณ 3 ใน 4 เป็นแค่ระยะเริ่มต้น

 วิธีการรักษา
     การรักษามี 4 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา ฮอร์โมน และเคมีบำบัด
     การผ่าตัด เป็นการรักษาหลัก ได้แก่การผ่าตัดเอามดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ออก และภายหลังการผ่าตัดจะมีการตรวจชิ้นเนื้อต่าง ๆ ทางพยาธิวิทยาอีกครั้งเพื่อเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรจะมีการรักษาร่วมอื่น ๆ เช่น รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด หรือฮอร์โมนร่วมด้วยหรือไม่
     รังสีรักษา อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด แต่บางครั้งถ้าผ่าตัดไม่ได้ก็อาจใช้เพียงรังสีรักษา ซึ่งอาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัดหรือฮอร์โมนตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มีทั้งการฉายรังสีและการใส่แร่ อาจใช้เพียงวิธีการเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับแพทย์วินิจฉัย
     การใช้ฮอร์โมนบำบัด กรณีไม่สามารถผ่าตัดหรือฉายรังสีได้
     เคมีบำบัด ส่วนใหญ่ใช้ในโรคระยะลุกลาม มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษาหรือฮอร์โมน มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่รักษาได้ผลด้วยวิธีนี้

 รู้ไว้ ไกลโรค
     1.  ใส่ใจดูแลสุขอนามัยส่วนตัวจะสามารถป้องกันหรือพบโรคต่าง ๆ ได้ทันท่วงที และรักษาได้ทัน
     2.  ควบคุมร่างกายไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
     3.  สังเกตการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน ถ้าพบสิ่งผิดสังเกตต้องรีบปรึกษาแพทย์
     4.  ควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป หากมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 30 ปี ก็ควรไปตรวจทันที ในการตรวจภายใน 1 ครั้ง สามารถตรวจอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้ด้วย
     5.  ช่วงที่มีประจำเดือนมามาก ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยเพื่อป้องกันการเกิดการระคายเคือง การที่ประจำเดือนมีกลิ่นนั้น เนื่องจากภายในร่างกายของเรามีรูขุมขนซึ่งส่วนนี้จะผลิตกลิ่นออกมา ในช่วงที่มีประจำเดือน การใส่ผ้าอนามัยจะทำให้เกิดความอับชื้น ไม่ควรใช้แผ่นผ้าอนามัยแบบบางรอง เพราะพลาสติกรองจะทำให้เกิดความอับชื้นได้
     6.  การนุ่งกางเกงยีนหรือกางเกงรัดรูปบ่อย ๆ ก็มีส่วนที่จะทำให้เกิดการอับชื้นได้ จึงควรเลือกใส่กางเกงที่ไม่รัดรูปหรือตึงเกินไป
     7.  การใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น ควรเลือกที่ไม่แพ้ ไม่ระคายเคืองต่อตัวเอง
     8.  เมื่อชำระล้างบริเวณจุดซ่อนเร้นแล้วต้องซับให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น
     9.  การทานยาเลื่อนประจำเดือนบ่อย ๆ ร่างกายจะปรับสภาพไม่ได้ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรทาน ถ้านาน ๆ ครั้งทาน ไม่เป็นไร

     แพทย์ผู้ให้ข้อมูล:พญ.สุวนิตย์  ธีระศักดิ์วิชยา สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bim100.in.th