นัดพบแพทย์

ดัดตนแก้ลมอก

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 4936

พบเครียดลงกระเพาะมาก

ศ.น.พ.สวัสดิ์ หิตะนันท์ นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในปี ๒๕๔๑ จำนวนผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารในประเทศไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปีนี้ยังอยู่ในช่วงตกต่ำ ทำให้ประชาชนแบกภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและเครียดมาก ดังนั้น จึงส่งผลต่อกระเพาะอาหารเกิดการหลั่งน้ำย่อยหรือน้ำเมือกที่มีฤทธิ์เป็นกรดออกมามากกว่าปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้กระเพาะอาหารเกิดภาวะอักเสบจนกระทั่งเป็นแผลได้ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า เพศชายอายุระหว่าง ๓๐-๕๐ ปี มีอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงในวัยเดียวกัน เพราะเพศชายในวัยดังกล่าวมีภาวะเสี่ยงสูง อาทิ ความกดดันสูงจากความเครียดในการทำงาน การกินอาหารไม่เป็นเวลา หรือจำนวนผู้ชอบสูบบุหรี่และดื่มสุราก็ยังมากกว่าเพศหญิง เป็นต้น

สำหรับอาการที่พบมากได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียด เรอเปรี้ยว มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น เพราะกระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ หรือในบางรายมีอาการจุกเสียด แน่น เจ็บ แสบหรือร้อน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร โดยอาการจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร หรือชนิดของอาหารด้วย

“ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร อาจมีผลต่อสุขภาพจิตและอวัยวะอื่นๆ ได้ จึงควรแก้ที่ต้นตอ โดยระงับความเครียด นั่งสมาธิ และออกกำลังกายวันละ ๕-๑๐ นาที เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ก็ควรกินอาหารที่ย่อยง่ายและตรงเวลา งดบุหรี่และดื่มสุรา” ศ.น.พ.สวัสดิ์กล่าว

ท่านที่ยังไม่ทราบว่าการนั่งสมาธิและการออกกำลังกายแบบไหนดี ผมขอเสนอให้ท่านออกกำลังกายแบบฤๅษีดัดตนแก้ลมอกที่ผมนำมาเขียนนี้ทุกวัน หรือทุกครั้งที่มีความเครียด จะช่วยลดอาการที่เป็นอยู่นี้ลงได้มาก คราวนี้ผมต้องขออนุญาตนำเอาข้อความของ ศ.น.พ.สวัสดิ์ หิตะนนท์ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ นี้มาลงในที่นี้เพื่อให้ท่านที่ยังไม่ได้อ่านหรือไม่รู้ให้ได้รู้สาเหตุ และรู้ทางแก้อาการที่เป็นอยู่ให้เบาบางลง

 ท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิตัวตั้งตรง เอามือเท้าที่เข่าทั้ง ๒ ข้าง
 

ท่าบริหาร ถ้าจุกเสียดอกด้านซ้าย หายใจเข้า พร้อมทั้งเอามือซ้ายออกแรงดันเข่าแขนเหยียดตรง เงยหน้าเล็กน้อยจนรู้สึกตึงที่หน้าอกด้านซ้าย พอสูดลมหายใจเข้า กลั้นลมหายใจนับ ๑-๑๐ แล้วหายใจออกช้า พร้อมทั้งผ่อนลงอยู่ในท่าเตรียม ถ้าเป็นด้านขวาเอามือขวากดเข่า ทำเหมือนด้านซ้าย ขณะบริหารใจต้องเป็นสมาธิด้วยจะช่วยให้ได้ผลมากขึ้น

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.doctor.or.th/article/detail/2994