นัดพบแพทย์

ดุลูกแล้วต้องปลอบหรือไม่

04 Dec 2016 เปิดอ่าน 1111

เมื่อพ่อหรือแม่ดุลูก อีกคนควรจะเข้าไปปลอบลูกหรือไ่ม่ ขอวิธีดุและปลอบลูกแบบถูกหลักการ

Q : เวลาพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งดุลูก กรณีที่ลูกทำผิดจริงๆ อยากทราบว่าเมื่ออีกคนดุลูก อีกคนควรเข้าไปปลอบลูกหรือเปล่าคะ หรือไม่ควรปลอบเลย แล้วแบบนี้ลูกจะเสียใจหรือน้อยใจไหมคะ ลืมบอกไปค่ะว่าตอนนี้ลูกชายอายุ 5 ปีแล้วค่ะ
คุณสหทัย / กรุงเทพฯ


A : เป็นธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องดุลูกของตนเอง แต่ถึงอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ‘ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด’ เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว

สำหรับการปลอบโยนลูกเวลาที่เขารู้สึกไม่ดีกับการดุของเรานั้นสามารถทำได้ครับ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มีด้วยกัน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ วิธีการดุลูกและวิธีการปลอบลูก

สำหรับการดุลูกนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ทำแต่พอดี เด็กจะเกิดความรู้สึกสำนึกผิดและอยากที่จะปรับปรุงตัวเองต่อไปโดยที่ไม่ได้รู้สึกแย่แต่อย่างใด แต่หากเราดุลูกรุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับเราและกลายเป็นการต่อต้านในที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดุลูกอย่างเหมาะสม ได้แก่

1.ควรตำหนิในสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ตำหนิตัวเขา การบอกลูกว่า “แม่ไม่ชอบที่หนูแกล้งน้อง” กับการบอกลูกว่า “ทำไมเป็นเด็กเกเรแบบนี้” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก โดยในคำพูดแบบแรกนั้นให้ความรู้สึกว่า แม่ไม่ได้รู้สึกแย่กับลูก แม่แค่ไม่ชอบในสิ่งที่ลูกทำ ในขณะที่ประโยคหลังนั้นในทางจิตวิทยา เรียกว่า ‘การตีตรา’ หมายความว่าคุณแม่นั้นได้สรุปไปเรียบร้อยแล้วว่าลูกเป็นเด็กเกเร ซึ่งการพูดแบบหลังจะทำให้เด็กเกิดความท้อแท้และไม่อยากที่จะปรับปรุงตัวเอง

2.ควรบอกในสิ่งที่อยากให้เขาทำแทนสิ่งเดิมเสมอ เช่น หากเราบอกลูกว่า “อย่าตีน้อง” เด็กๆ หลายคนจะมีปัญหาว่าเมื่อเขาไม่พอใจน้อง เขามักไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรแทนที่การตีน้อง และสุดท้ายเขาก็จะกลับมาตีน้องในที่สุด ดังนั้นคุณแม่ควรบอกเขาว่า “อย่าตีน้อง ต่อไปนี้ถ้าน้องทำอะไรให้หนูไม่พอใจให้มาบอกแม่” เป็นต้น

3.ห้ามดุลูกขณะที่อารมณ์ไม่ดี ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก เนื่องจากเด็กๆ จะรู้สึกแย่กับความหงุดหงิดและความโกรธมากกว่าคำพูดของเราเสียอีก ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังหงุดหงิดก็ควรบอกกับลูกว่า “ตอนนี้แม่หงุดหงิดมาก เดี๋ยวแม่จะไปทำอย่างอื่นก่อน หายโกรธแล้วแม่จะมาคุยเรื่องนี้กับหนูอีกที” นอกจากลูกจะไม่ต้องรับอารมณ์ของเราแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความโกรธที่ดีจากเราอีกด้วย

สำหรับการปลอบลูกนั้นมีหลักการง่ายๆ ว่า คุณแม่เพียงแสดงความห่วงใยในความรู้สึกของเขาก็พอ เช่น “หนูเสียใจเหรอลูก” หรือ “หนูไม่ชอบที่คุณพ่อดุหนูใช่ไหม” เป็นต้น 

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากคุณแม่เห็นว่าคุณพ่อดุหรือทำโทษลูกรุนแรงเกินไป ก็ไม่ควรจะพูดแย้งต่อหน้าลูก แต่ควรจะไปคุยกันทีหลังเพราะอาจทำให้ลูกไม่เคารพและไม่เชื่อฟังคุณพ่อในคราวต่อๆ ไป และคุณพ่อจะได้ไม่รู้สึกเสียหน้าด้วย ขอให้โชคดีครับ

 

โดย นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : www.momypedia.com