นัดพบแพทย์

ADHD ต้นไม้ที่เลี้ยงยาก

04 Dec 2016 เปิดอ่าน 1244

คุณ เคยปลูกกุหลาบรึเปล่าครับ เมื่อเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสซื้อต้นกุหลาบมาปลูกในสวนที่บ้าน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปลูกกุหลาบแสนสวยเหล่านั้นคือ มันช่างเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงยากซะเหลือเกิน หากวันไหนที่ลืมรดน้ำ พวกมันก็จะประท้วงด้วยการทำให้ดอกของมันเหี่ยวจนน่าตกใจ หากปล่อยปละละเลยไปซักพัก เชื้อราและเพลี้ยหนอนต่างๆก็จะพากันมาลงหลักปักฐานที่ลำต้นของมันจนหายามา พ่นแทบจะไม่ทัน หรือเมื่ออยากจะสัมผัสและชื่นชมความงามของพวกมัน หากไม่ระวังก็อาจจะถูกหนามตำเข้าให้                                                             

            หลายคนอาจสงสัยว่า “ดูแลรักษายากขนาดนี้ แล้วจะซื้อมาทำไมเนี่ย”

 หากว่ารู้อย่างนี้ตั้งแต่ก่อนซื้อ ผมคงเปลี่ยนไปเลือกปลูกอย่างอื่น เช่น เฟื่องฟ้า ต้นเข็ม หรือไม่ก็ ตะบองเพชร แทนแน่ๆ(ดูแลง่ายกว่ากันเยอะ)

            แต่ทำไงได้ล่ะครับ ก็ซื้อมาแล้วนี่ (หว่า) ก็ต้องดูแลกันไป

            เมื่อมาถึงประโยคนี้ ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงคำพูดของผู้ปกครองท่านหนึ่งที่ต้องคอยสู้รบปรบมือกับลูก ชายที่ป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้น(ADHD) ของเธอไม่เว้นแต่ละวันบ่นให้ผมฟังว่า

“ถ้ารู้ว่าเกิดมาแล้วจะเป็นแบบนี้ ขอไม่มีลูกดีกว่า แต่ทำไงได้ล่ะคะ ก็เกิดมาแล้ว ก็ต้องดูแลกันไป”
เด็ก ที่ป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้นนั้นจะมีอาการแสดงหลายอย่างทั้ง ซน อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นานๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเรียน ทำให้คุณครูที่โรงเรียนต้องโทรศัพท์มาแจ้งเป็นประจำว่า ลูกไม่ตั้งใจเรียนในห้อง ไม่ยอมส่งการบ้าน (อ้าว ก็เห็นลูกบอกว่าไม่มี)  อีก ทั้งยังอดทนรออะไรได้ไม่นาน เบื่อง่าย หุนหันพลันแล่น มักทำอะไรโดยไม่คิด แถมยังหงุดหงิดง่ายเสียอีก เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมองบางตัวมีปริมาณน้อยกว่า เด็กปกติซึ่งมีผลทำให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตนเองในด้านต่างๆ เช่นด้านอารมณ์ ด้านการเคลื่อนไหว ด้านการใช้ความคิด เป็นต้น ทำงานได้น้อยกว่าปกติเช่นกัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไรนั้นปัจจุบันยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ที่ทราบแน่ๆก็คือว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ หรือ การเรียนของเค้าเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากโรคที่เกิดกับสมอง หาใช่เกิดจากนิสัยที่ไม่ดีของเขาไม่

            เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ว่าในปัจจุบันมีการรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคซน สมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี อย่างแรกก็คือการใช้ยา ก็เพราะว่ายาที่ใช้นั้นมีผลออกฤทธิ์ทำให้สารในสมองที่ว่าน้อยนั่นล่ะครับ กลับมามากเท่าเด็กคนอื่น ทำให้เด็กที่กินยาสามารถมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง และคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น แต่เนื่องจากว่าผลของยานั้นไม่ครอบคลุมถึงอาการบางอย่าง เช่น ระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน มารยาทและทักษะทางสังคมต่างๆ ดังนั้นการปรับพฤติกรรมและการอบรมสั่งสอนจึงมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการ รักษาด้วยยาเลย

            หาก ใครที่มีลูกป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้นหรือเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแล เด็กกลุ่มนี้ย่อมจะทราบดีว่าการที่จะปรับพฤติกรรมหรืออบรมสั่งสอนเด็กเหล่า นี้นั้นยากเย็นขนาดไหน(แม้จะกินยาแล้วก็ตาม) เพราะเนื่องจากฤทธิ์ของยาไม่ได้คงอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และ เด็กหลายคนอาจมีอาการหลงเหลือให้เห็นได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่ยากำลังออก ฤทธิ์ก็ตาม จึงพบได้บ่อยๆว่าเด็กๆเหล่านี้บางครั้งจะไม่สนใจในสิ่งที่เราพยายามจะสอน(เพราะมัวแต่สนใจอย่างอื่นอยู่) หรืออาจจะสนใจแต่ไม่ทำตาม (ก็มันไม่สนุกนี่) หรืออาจจะเชื่อฟังและทำตามอยู่หนึ่งวันและกลับมาเป็นเหมือนเดิมในวันรุ่งขึ้น (ก็บอกแล้วไงว่าสมาธิสั้น)  

            หากเป็นเด็กทั่วไปการปรับพฤติกรรมหรือการอบรมสั่งสอนต่างๆนั้นอาจทำได้ไม่ ยาก แต่เนื่องจากเด็กที่ป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้นนั้นเป็นเด็กที่ขาดความสามารถใน การควบคุมตนเองดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความช่วย เหลือจากคนรอบข้างเป็นพิเศษเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถที่จะควบคุม อารมณ์ สมาธิและพฤติกรรม ของเขาได้ด้วยตัวเขาเองในอนาคต ความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผมหมายถึงนี้คือการที่ต้องคอยอบรมและสั่งสอนเค้า ด้วยความรักความเข้าใจและอดทนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้จะต้องเจอกับความเหน็ด เหนื่อยและท้อใจจนบางท่านถึงกับคิดจะยกลูกให้คนอื่นไปเลยก็มี

            ผม มักเล่าให้ผู้ปกครองของเด็กที่ป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้นหลายๆฟังว่า เด็กแต่ละคนนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ไม่เหมือนกัน บางต้นก็เลี้ยงง่าย บางต้นก็เลี้ยงยาก บางต้นไม่ว่าจะโดนแดดโดนฝนแค่ไหนมันก็อยู่ของมันได้ แต่บางต้นต้องดูแลประคบประหงบอย่างดี ต้องรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยทุกอาทิตย์มันจึงจะอยู่ได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคซนสมาธิสั้นนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ดูแลยาก ต้องรดน้ำทุกวันไม่ใช่วันละ 2 แต่เป็นวันละ 10 รอบ ต้องคอยตัดแต่งกิ่งอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลมคอยจะทิ่ม ตำเราอยู่เสมอหากดูแลไม่ดี แถมยังเป็นต้นไม้ที่ให้ดอกผลช้ามากจนบางครั้งดูเหมือนไม่ว่าจะรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยไปเท่าไหร่ก็ดูไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อเถอะครับว่าหากเรารู้จักต้นไม้ชนิดไหนดี เรารู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และควรดูแลมันอย่างไรแล้วล่ะก็ จะต้องมีวันที่เราได้เห็นต้นไม้ต้นนั้นออกดอกสวยๆออกมาให้เราได้ภูมิใจอย่าง แน่นอน ดังนั้นอนาคตของเด็กๆเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของคุณพ่อคุณ แม่นั่นแหละครับว่าจะดูแลเค้าได้ดีแค่ไหน

 อ้อ อีกอย่างหนึ่ง หากใครที่เชี่ยวชาญในการปลูกกุหลาบ ช่วยมาแนะนำผมทีสิครับ เพราะตอนนี้กุหลาบที่บ้านผมมันกำลังจะแย่แล้ว!

 

นายแพทย์อัศวิน  นาคพงศ์พันธุ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.paidi-th.com/article/show_article.php?id=44