นัดพบแพทย์

มฤตยูเงียบ ...ความทรมานที่ได้รับจากโรคกระดูกพรุน

31 Aug 2016 เปิดอ่าน 1673

จากตัวเลขทางสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญต่อประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด โดยสตรีมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 13 เปอร์เซ็นต์  โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีลักษณะมวลกระดูกต่ำ  มาสู่การสึกกร่อนของโครงสร้างระดับจุลภาคของเนื้อเยื่อของกระะดูก  ทำให้เกิดภาวะกระดูกเปราะและหักง่ายจากอุบัติเหตุเพียงเบาๆ โรคนี้พบมากที่สุดในประชากรสูงอายุ ตั้งแต่ 60-80 ปี และ 2 ใน 3 ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี  โดยภาวะกระดูกพรุนในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ มีเพียงความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายเท่านั้น โดยบริเวณกระดูกหักที่พบได้บ่อย คือ แขน สะโพก ไหล่  กระดูกสันหลังและข้อมือ การหักของกระดูกสันหลังอาจไม่มีอาการปวดในระยะแรก แต่อาจทำให้ความสูงลดลงและอาจมีอาการปวดตามมา รวมถึงเกิดภาวะทุพพลภาพได้ ผลกระทบจากกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินได้  ต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงการเกิดแผลกดทับ ต่อมาผู้ป่วยไม่สามารถยกของที่มีน้ำหนักได้ตามปกติ  รวมทั้งต้องเป็นภาระในการดูแลระยะยาวและมีแนวโน้มในการเสียชีวิต 


กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในภาวะโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป ได้แก่ สตรีที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือย่างเข้าสู่ช่วงวัยทองไปแล้ว เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงสูงสุด นอกจากนี้ผู้ที่มีปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่มีประวัติของครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน มักมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่า  ในส่วนของคนผอมมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอ้วน คนที่มีรับประทานอาหารไม่ได้สัดส่วน ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน  ส่วนคนที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่วิธีการป้องกันภาวะเสี่ยงที่ดีสุดก็คือการเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก ให้คำแนะนำการกินอาหารให้ครบหมู่และปริมาณเหมาะสมโดยเฉพาะผักใบเขียว ให้กินแคลเซี่ยมและวิตามินดี นมเป็นสารอาหารที่ให้แคลเซี่ยมดีที่สุด เด็กควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว (500 ซีซี) จนถึงวัยหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้สะสมให้มาก ควรออกกำลังกายเพียงพอและสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และแสวงหาคำแนะนำเพิ่มเติมในการป้องกันจากแพทย์


สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนในปัจจุบัน คือการหยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูกและรักษาอาการกระดูกหัก วิธีที่ดีที่สุด คือการรับประทานแคลเซียม 1,200 – 1,500 มิลลิกรัม ต่อวันและทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรเสริมวิตามินดี ให้ร่างกายได้รับ 800 -1,200 หน่วยสากลต่อวัน  หมั่นออกกำลังกาย เช่น การเดิน  การวิ่ง หรือการถีบจักรยาน ห้ามสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์ ไม่รับประทานยาที่ทำให้ง่วงนอน อาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่แสงสว่างที่เพียงพอ ป้องกันการหกล้ม


แม้ว่าในปัจจุบัน จะมียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ยารับประทานบางชนิดเป็นยาเสริมสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน  เมื่อใช้แล้วจะมีภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูกมากขึ้น   หรือยาบางชนิดถูกสังเคราะห์ขึ้นมา โดยมีคุณสมบัติสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์ของกระดูกเปราะหักได้   ซึ่งยาเหล่านี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด   นอกจากนี้ยังมียาชนิดฉีดปีละ  1  ครั้ง ยาในกลุ่มนี้หลังจากได้รับยา ตัวยาจะไปอยู่บริเวณผิวกระดูกได้ตลอด 1 ปี เพื่อออกฤทธิ์ในการยับยั้งการทำลายกระดูก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรอยู่ในการดูแลของแพทย์


อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน กลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ ลดปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมา ป้องกันการเกิดภาวะกระดูกเปราะบางหรือกระดูกพรุนที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุ

 

 

โดยพันเอก (พิเศษ) รศ.นพ. วรัท ทรรศนะวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและกระดูก โรงพยาบาล พระมงกุฏเกล้า

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280722527&catid=04