นัดพบแพทย์

เคล็ดลับป้องกันกระดูกพรุน

31 Aug 2016 เปิดอ่าน 1420

พันเอก (พิเศษ) รศ.นพ.วรัท ทรรศนะวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและกระดูก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1 ล้านคน และกำลังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขทางสถิติขององค์การอนามัยโลก (who) พบว่า โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญต่อประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด

         โดยสตรีมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาการแสดงของโรคกระดูกพรุนที่เป็นสัญญาณอันตราย ขั้นแรกคือ การเกิดภาวะกระดูกเปราะบางที่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย โดยบริเวณที่พบมากจะเป็นบริเวณสะโพก กระดูกสันหลังและข้อมือ อาการต่อเนื่องนี้จะส่งผลต่อการยุบตัวของกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดหลัง

         เมื่อสังเกตจากภายนอก จะพบว่าผู้ป่วยมีหลังที่โก่งงอ และมีความสูงลดลง และเมื่อเกิดผลกระทบจากกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินได้ ต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงการเกิดแผลกดทับ ต่อมาผู้ป่วยไม่สามารถยกของที่มีน้ำหนักได้ตามปกติ รวมทั้งต้องเป็นภาระในการดูแลระยะยาวและมีแนวโน้มในการเสียชีวิต

          พันเอก (พิเศษ) รศ.นพ.วรัท กล่าวว่า การป้องกันโรคกระดูกพรุน คือการรับประทานแคลเซียม 1,200-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรเสริมวิตามินดี ให้ร่างกายได้รับ 800-1,200 หน่วยสากลต่อวัน หมั่นออกกำลังกาย เช่น การเดิน การวิ่ง หรือการถีบจักรยาน ห้ามสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์ ไม่รับประทานยาที่ทำให้ง่วงนอน อาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่แสงสว่างที่เพียงพอ เพื่อป้องกันการหกล้ม

          การรักษาโรคกระดูกพรุนในปัจจุบันนั้น คือการหยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูกและรักษาอาการกระดูกหัก โดยการใช้ยาเพื่อรักษากระดูกพรุนและการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกหัก การรักษาโรคกระดูกพรุนโดยการใช้ยา ปัจจุบันมียารักษาโรคกระดูกพรุนหลายชนิด ยารับประทานบางชนิดเป็นยาเสริมสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อใช้แล้วจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุมดลูกมากขึ้น

         หรือยาบางชนิดถูกสังเคราะห์ขึ้นมา โดยมีคุณสมบัติสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูก  และลดอุบัติการณ์ของกระดูกเปราะหักได้ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมียาชนิดฉีดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เช่นกัน

โดย พันเอก (พิเศษ) รศ.นพ.วรัท ทรรศนะวิภาส

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th