นัดพบแพทย์

วัยหมดประจำเดือน

11 Aug 2016 เปิดอ่าน 2994

ผู้หญิงเรามีช่วงหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตที่ควรเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ  นั่นคือ การเข้าสู่ " วัยหมดประจำเดือน"  หรือ " วัยทอง "  วัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง หมายถึง
 
1. ไม่มีประจำเดือน 1 ปี หลังจากอายุมากกว่า 40 ปี
2. ในคนที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างในช่วงอายุน้อยกว่า 40 ปี ก็ถือว่าเป็นการหมดประจำเดือนโดยการผ่าตัดซึ่งการผ่าตัดรังไข่ออก จะทำให้เกิดการ  เปลี่ยนแปลงในร่างกายคล้าย ๆ คนหมดประจำเดือน

            สตรีหมดประจำเดือนอายุเฉลี่ย 50 ปี ( 45-55 ปี) ปัจจุบันสตรีไทยอายุเฉลี่ยจะอยู่ได้ถึง 75 ปี หลังหมดประจำเดือน จะมีชีวิตอยู่ยาวประมาณ 25 ปี หรือ 1 ใน 3 ของชีวิต และถ้าเราจะทำชีวิตที่เหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่จะปล่อยปละละเลย ก็จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น ปกติรังไข่จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนผู้หญิง จะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เช่นเดียวกับฮอร์โมนผู้ชายซึ่งสร้างจากถุงอัณฑะ แต่ในชาย อายุการใช้งานนานกว่า แม้อายุ 70 ปียังสร้างเชื้ออสุจิ มีบุตรได้ ในหญิงอายุเฉลี่ยแค่ 50 ปี รังไข่หยุดทำงานแล้ว ทำให้ฮอร์โมนลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ติดตามมา

            ปกติรังไข่จะอยู่ที่ปีกมดลูก ขนาด 3-4 เซนติเมตร ในช่องท้องเชิงกรานบริเวณท้องน้อย มี 2 ข้าง ซ้าย- ขวา สร้างฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีการสะสมของไขมันเป็นสัดส่วนหญิง ทำให้ผู้หญิงมีผิวหนังนิ่มกว่าผู้ชาย และยังกระตุ้นเต้านมทำให้เต่งตึง มีน้ำมีนวล ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ป้องกันกระดูกพรุน ฮอร์โมนจะกระตุ้นที่มดลูกทำให้เยื่อบุมดลูกเจริญขึ้น เกิดประจำเดือน ถ้าขาดฮอร์โมน  ประจำเดือนก็หมดไป จึงเป็นเครื่องชี้ว่าถ้าประจำเดือนหมด รังไข่ก็หมดหน้าที่ นอกจากนั้นฮอร์โมนยังมีผลต่อสมอง และต่ออวัยวะบางอย่าง เช่น  เส้นเลือด ตับ ไต ฯลฯ

            หลังหมดประจำเดือน บางคนไม่มีอาการ แต่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการในช่วง 3 – 4 ปี ก่อนและหลังหมดประจำเดือน มีอาการของระบบหลอดเลือดและกล้ามเนื้อ ทำให้ร้อนวูบวาบตามผิวหนัง เกิดจากขาดฮอร์โมน ซึ่งปกติฮอร์โมนออกฤทธิ์ที่สมอง ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนน้อยลง  ทำให้การควบคุมอุณหภูมิไม่ดี ทำให้เกิดการขึ้นลงของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ระบบหลอดเลือดจะปรับอุณหภูมิ ทำให้ร้อนวูบวาบ บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนอยู่ไม่ได้ นอนไม่หลับ เหงื่อออกง่าย   ขี้ร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้อาจเป็นช่วงประจำเดือนยังไม่หมดก็ได้ เป็นความแตกต่างในแต่ละคน นอกจากนี้ฮอร์โมนยังอาจควบคุมทางด้านจิตใจด้วย บางคนลืมง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กลัว และซึมเศร้า

            อาการทางระบบปัสสาวะและสืบพันธุ์ ช่องคลอดจะแห้ง เนื่องจากปกติฮอร์โมนจะกระตุ้นผนังช่องคลอดให้หนาขึ้น เมื่อขาดฮอร์โมนผนังช่องคลอดจะบาง ติดเชื้อง่าย  เจ็บเวลาร่วมเพศกับสามีเพราะน้ำหล่อลื่นน้อย  อาการต่อไปคือ ปัสสาวะลำบาก เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอาศัยฮอร์โมนเพศหญิงด้วย เมื่อขาดทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดี ปัสสาวะลำบาก บ่อย ติดเชื้อง่าย ถ้าได้ฮอร์โมน จะดีขึ้นชัดเจน ถัดมาช่องคลอดและมดลูกจะหย่อน เนื่องจากกล้ามเนื้อและเอ็นยึดไม่แข็งแรงโดยเฉพาะในรายที่คลอดลูกมาก หลังจากประจำเดือนหมด 5 ปีแรก กระดูกจะบางลงเร็วประมาณปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นบางช้าลงไปเรื่อย ๆ  อาการกระดูกหักจะเกิดขึ้นง่าย เมื่อกระดูกบางไปถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ หรืออายุ 60-65 ปีขึ้นไป ดังนั้น การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกอาจตรวจเมื่ออายุ 60-65 ปี เป็นอย่างช้า ฮอร์โมนเพศหญิงทำให้เส้นเลือดยืดหยุ่นได้ไขมันไม่ไปเกาะผนังเส้นเลือดและไขมันในเลือดลดลง ในอดีตเชื่อว่าฮอร์โมน ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ข้อมูลล่าสุด พบว่าการใช้ฮอร์โมนในสตรีวัยทองอายุมาก ทำให้โรคหัวใจกลับมากขึ้น

ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อังสุวัฒนา

*ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=166