โรค allergic rhinitis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบในเยื่อบุจมูกโดยเป็นผลจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ดังนั้นการใช้ยาต้านการอักเสบ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าควรพิจารณาใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการจาม คัน คัดจมูกหรือน้ำมูกไหลรุนแรงมากจนรบกวนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน. แต่ยาต้านการอักเสบที่แนะนำให้ใช้ คือ ยาสตีรอยด์ชนิดพ่นจมูกที่มีใช้ในประเทศไทยคือ beclomethasone propionate, budesonide, fluticasone propionate, mometasone furoate และ triamcinolone acetonide แม้ว่ายาดังกล่าวจะมีความแตกต่างกันในด้าน potency, pharmacokinetics และ pharmacodynamics แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรค allergic rhinitis ด้วยยาชนิดต่างๆ พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการเลือกใช้ยาพ่นจมูก ขอแนะนำแนวทางการพิจารณาดังต่อไปนี้
1. ตรวจยืนยันให้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรค allergic rhinitis เพราะต้องใช้ยานาน.
2. เลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น การเลือกใช้ยาที่ใช้พ่นได้วันละครั้ง จะช่วยเพิ่ม compliance ในการรักษา และถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กควรเลือกใช้ยาให้เหมาะกับอายุ เช่น mometasone อายุมากกว่า 2 ปี fluticasone และ triamcinolone อายุ 4 ปีขึ้นไป budesonide และ beclomethasone อายุ 6 ปีขึ้นไป.
3. กลิ่นและรสชาติของยาพ่น ในผู้ป่วยที่เคยใช้ยาพ่นมาก่อน ควรเลือกใช้ตามที่ผู้ป่วยชอบ.
4. ราคายา ควรนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกับความพึงพอใจของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยมีความร่วมมือในการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น นอก จากนี้ปัจจัยเรื่องราคายายังต้องปรับตามนโยบาย ของหน่วยงานเกี่ยวกับงบประมาณในการใช้ยาด้วย.
5. เลือกยาที่ผู้ป่วยเคยใช้แล้วได้ผลดี เนื่องจากการตอบสนองต่อยาในแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน.
โดยสรุป คิดว่ายาพ่นจมูกที่มีใช้ในปัจจุบัน สามารถเลือกใช้ได้ทุกชนิด ผลไม่แตกต่างกันมาก และ แนะนำให้เริ่มใช้ยาไปนาน 2-4 สัปดาห์ แล้วนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการ ต่อจากนั้นต้องปรับยาตามปัญหาและการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เช่น อาการดีขึ้นแต่ยังไม่หาย ก็แนะนำให้ผู้ป่วยพ่นต่ออีก 1 เดือน ถ้าอาการดีขึ้นมากจนแทบจะไม่มีอาการแล้วควรให้หยุดยาพ่น และแนะนำการทำ allergen avoidance การให้ยา antihistamine เป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการกลับมาเป็นใหม่ก็ค่อยเริ่มยาพ่นใหม่ได้. สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ดีขึ้นจากการพ่นยา อาจพิจารณาเปลี่ยนชนิดยาพ่นต่อไปอีก 1-2 เดือน ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมทั้งด้านโรคภูมิแพ้และสาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะเกิดร่วม จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป.
เอกสารอ้างอิง
1. Bousquet J, Van Cauwenberge P, Khaltaev N. Allergic rhinitis and its impact on asthma. J Allergy Clin Immunol 2001;108 (Suppl 5):S147-S334.
2. Berger WE. Overview of allergic rhinitis. Ann Allergy Asthma Immunol 2003;90(Suppl 3):7-12.
สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ พ.บ. .รองศาสตราจารย์ หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ,ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,มหาวิทยาลัยมหิดล
* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.doctor.or.th/ask/detail/8329