แพทย์เตือนสาวออฟฟิศขี้เมื่อย โดยเฉพาะหลังและคอ ให้สังเกตอาการ หากเมื่อย ชา หรือปวดร้าวจากคอไปที่สะบัก แขน และมือ ระวังเป็นอาการเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท เหตุจากนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน แนะป้องกันตนเองด้วยการออกกำลังกาย จับมือศัลยแพทย์มือหนึ่งจากสหรัฐนำนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา เผยได้ผลดีกว่าเดิม ไม่ต้องกลับมาผ่าซ้ำ
นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางคณะศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทและกระดูกสันหลังได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ แอนดริว แคปปูซิโน ศัลยแพทย์ระดับท็อปเท็นจากนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา (Orthopedic and Spine Surgeon of Buffalo Spine Surgery Institution) ในการร่วมกันผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทรายหนึ่ง โดยการนำนวัตกรรมใหม่ คือ หมอนรองกระดูกเทียม (Artificial disc) มาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าว
“ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มักจะมาพบแพทย์ เนื่องจากมีอาการปวดคอร้าวมาที่สะบัก บางครั้งลามไปที่แขนและมือ อาการเช่นนี้ไม่ธรรมดาครับ เพราะเป็นอาการเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกกดทับประสาท ซึ่งหากปล่อยไว้อาจลุกลามเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ได้ การรักษาทั่วไปของคนไทย คือ ไปนวดผ่อนคลาย หรือทานยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้หายขาด จึงลงเอยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก ซึ่งเดิมใช้กระดูกสะโพกผู้ป่วย ทำให้เกิดแผล 2 แผล คือ สะโพกและคอ แต่การใช้หมอนรองกระดูกเทียม จะลดขั้นตอนและได้ผลลัพท์ที่ดีกว่า ครั้งนี้ ทางพญาไทรู้สึกเป็นเกียรติที่หมอแอนดริวจะมาร่วมถ่ายทอดนวัตกรรมใหม่นี้ และร่วมผ่าตัดกับคณะแพทย์ไทย ทำให้วงการแพทย์ไทยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น” นพ. ธีรศักดิ์ กล่าว
จากประสบการณ์ของนายแพทย์ แอนดริว ที่เดินทางไปทั่วโลกในการผ่าตัดผู้ป่วย พบว่า การผ่าตัดด้วยการใช้หมอนรองกระดูกเทียมนั้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งนอกจากจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดที่สั้นลงแล้ว แผลยังเล็กกว่าระบบการผ่าตัดแบบเดิม ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ที่สำคัญทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม จึงเหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน
ขณะที่การผ่าตัดแบบเดิม จะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนจากกระดูกสะโพกของผู้ป่วยเองมาใส่แทน ในบางกรณีอาจจะใช้ชิ้นส่วนกระดูกจากคนอื่น แต่ผู้ป่วยบางรายมักจะปฏิเสธ เนื่องจากเกรงว่าจะติดโรคบางอย่างมาจากกระดูกผู้อื่นได้ ส่วนผลลัพธ์หลังผ่าตัดแม้ว่าอาการปวดคอจากการกดทับของเส้นประสาทจะหายไป แต่เนื่องจากเกิดการเชื่อมของกระดูกทั้ง 2 ระดับ จึงทำให้การเคลื่อนไหวของคอไปในทิศทางต่างๆ ได้ เวลาหันไปทางไหนจะต้องหันไปทั้งลำตัว นอกจากนี้ พบว่า ภายใน 10 ปีหลังการผ่าตัด 25% ของผู้ป่วย จะมีปัญหาความเสื่อมของกระดูกคอระดับถัดไป ทั้งบนและล่างของระดับที่เคยทำผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นปัญหาทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9500000037821