นัดพบแพทย์

หน้าเบี้ยวครึ่งซีก'ผลเส้นประสาทอักเสบ

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 2359

อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเกิดจากเส้นประสาทเส้นที่ 7 ที่ควบคุมการทำงานกล้ามเนื้อแสดงสีหน้ามีการทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมักแสดงอาการค่อนข้างเร็ว บางรายเป็นแบบเฉียบพลัน เช่น ตื่นเช้ามาพบว่าใบหน้าครึ่งซีกอ่อนแรงรู้สึกตึงหนักใบหน้าซีกนั้น ตาปิดได้ไม่สนิท ยักคิ้วไม่ขึ้น บางรายปวดบริเวณหลังหู รู้สึกมีเสียงก้องๆ และอาจพบความผิดปกติของการรับรสของลิ้นส่วนหน้าซีกที่เป็น ส่วนใหญ่มักมีอาการมากขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกจนถึง 1-3 วันแรก แต่บางรายอาจมีอาการมากขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 14 วัน


          พ.ญ.สิรารัตน์ โมรรัต อายุรแพทย์ระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท ร.พ. พญาไท 2 อธิบายว่า อาการนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบในหญิงอายุน้อยมากกว่าชาย แต่หากอายุมากกว่า 40 ปีจะพบในชายมากกว่า ในหญิงตั้งครรภ์พบมากกว่ากลุ่มอื่น 3 เท่า และพบได้ 4-5 เท่าในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เชื่อว่าเป็นการอักเสบของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางรายเกิดจากการติดเชื้อเริมที่แฝงอยู่ในปมประสาท ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดและอาจมีตุ่มใสบริเวณรูหูส่วนนอกนำหน้ามาก่อน นอกจากนี้อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังอาจเกิดก้อนในสมองหรือในโพรงกะโหลกศีรษะโต กดเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 นี้


          โดยแพทย์สามารถแยกผู้ป่วยที่มีอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนี้ออกจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่ง มีอาการหน้าเบี้ยวได้เช่นกัน แต่จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วยและผู้ป่วยยังยักคิ้วข้างที่เบี้ยวได้
          แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจเอกซเรย์สมอง


          "การรักษาโดยใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์สามารถลดการอักเสบของเส้นประสาทได้ รับประทานประมาณ 2 สัปดาห์ รับประทานยาต่อเนื่อง ยาป้ายตา ยาหยอดตา และใช้ผ้าปิดตาสนิทขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อบุตาอักเสบเนื่องจากอาการกะพริบตาที่ลดลง ยาฆ่าเชื้อไวรัส และการทำกายภาพ กระตุ้นด้วยไฟฟ้า"
          โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมักจะหายดีในเวลา 4-6 สัปดาห์ ร้อยละ 10 จะมีอาการเบี้ยวที่ใบหน้าทั้งสองข้าง ร้อยละ 7 จะเกิดเป็นซ้ำได้


          สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ต้องคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากยาสเตียรอยด์จะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงจนเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าโดยยักคิ้ว ปิดตาแน่น ยิงฟัน เป่าแก้มป่อง
          หากมีอาการอื่นเพิ่มเติมทางระบบประสาท เช่น หน้าชา การได้ยินลดลง อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หรือมีอาการชาปลายมือและเท้า 2 ข้าง พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เดินเซ ซึมลง สับสน หรือเป็นมากขึ้น ควรพบแพทย์เร็วขึ้น

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthinfo.in.th/hiso5/healthy/news.php?names=02&news_id=1432