นัดพบแพทย์

หวัดลงหลอดลมทำ “ไอ” นานขึ้น เตือนไอเรื้อรังรีบพบแพทย์

02 Sep 2016 เปิดอ่าน 1663

หมอชี้หวัดลงหลอดลมส่งผล “ไอ” นานกว่าปกติ ยันเชื้อหวัดไม่ได้รุนแรงขึ้น เผยบางคนมีโรคประจำตัวร่วมทำให้อาการรุนแรง ระบุไอเรื้อรังต้องระวังให้รีบพบแพทย์
       
       นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเชื้อไข้หวัดไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่หวัดมีหลายแบบ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสทำให้มีปัญหากับระบบหายใจส่วนบนซึ่งอาการจะรุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของเชื้อ โรคประจำตัวของคนไข้ด้วย เช่น หากคนไข้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ อาการไอก็จะรุนแรงและมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย หรือหากคนไข้เป็นโรคหัวใจบางครั้งเวลาเป็นหวัดก็จะทำให้โรคเดิมกำเริบ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบบ่อยในปัจจุบันคือ เวลาเป็นหวัดแล้ว หวัดจะลงไปในหลอดลมส่งผลให้เกิดการไอเป็นเวลานาน และเจ็บคอร่วมกับการมีเสหะ นอกจากนี้ อาจเกิดจากมลภาวะต่างๆ ที่ส่งผลให้โรคมีความไวขึ้นพอติดเชื้อก็ทำให้เกิดอาการรุนแรง
       
       นพ.ฉันชายกล่าวว่า การที่เชื้อลงไปในหลอดลมนั้นเป็นเพราะเชื้อโรคเองอาจลุกลามไปในปอด แต่ก็พบไม่มาก ที่พบบ่อยจะพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคหืด ที่เมื่อเป็นหวัดก็จะกระตุ้นให้หลอดลมตีบตัว เกิดหลอดลมอักเสบ และมีอาการไอ ในบางคนก็จะมีอาการหอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการไอ ขอให้ประชาชนสังเกตหากไอเรื้อรังต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะอาจเป็นโรคร้ายแรงได้ เพราะหากเป็นไข้หวัดธรรมดาปกติจะไอไม่เกิน1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ การไอต้องดูอาการประกอบ ถ้าไอ มีไข้สูง เหนื่อยหอบ ไอเป็นเลือด ก็ควรรีบพบแพทย์ แต่ถ้าไอต่อเนื่อง 6-7 สัปดาห์ ยังไม่หายก็มีโรคที่ต้องกังวลหลายโรค เช่น เกิดจากการสูบบุหรี่ ติดเชื้อในปอดเรื้อรัง มะเร็งปอด หรือยาบางตัว เช่น ยาความดัน อาจทำให้ไอเรื้อรังได้ ดังนั้น หากมีอาการไอเรื้อรังต่อให้ไม่มากก็ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะการรักษาโรคจากการไอต้องรักษาตามเหตุของการเกิดอาการไอ
       
       “สำหรับวิธีการป้องกันที่ดี คือ การออกกำลังกาย และนอนพักผ่อนให้เพียงพอก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องที่มีการระบุว่าการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินซี จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นหวัดนั้น ก็ยังไม่มีข้อมูลใดมารับรอง แต่การรับประทานก็ไม่มีผลเสียเพราะไม่มีโอเวอร์โดส ทั้งนี้อีกสิ่งที่อยากแนะนำโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง คือ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และเมื่อมีอาการไอควรใส่หน้ากากเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนรอบข้าง หากเป็นหวัดควรหลีกเลี่ยงเข้าไปในที่ชุมชน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ” นพ.ฉันชายกล่าว

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000003469