นัดพบแพทย์

เจ็บแบบนี้พี่อาจ ‘กระดูกเชิงกรานหัก!’ ทำความรู้จัก 5 อาการปวดก่อนเจ็บจริง

14 Sep 2016 เปิดอ่าน 4326

กระดูกเชิงกรานประกอบด้วยกระดูกทั้งสิ้น 3 ชิ้น คือ กระดูกก้นกบ (Sacrum) กระดูกสะโพก (Ilium) ด้านซ้ายและขวา

กระดูกเชิงกราน จะทำหน้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังซึ่งเป็นแกนกลางของร่างกาย

กับ กระดูกรยางค์ คือกระดูกสะโพกและขาทั้ง 2 ข้าง

การแตกหักของกระดูกเชิงกรานนั้น ในคนทั่วไปมักเกิดการแตกหักจากอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง

เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ พลัดตกจากที่สูง หรือได้รับแรงกระแทกโดยตรงบริเวณสะโพก หรือเชิงกราน

แต่หากในบุคคลที่มีภาวะกระดูกพรุน อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกเชิงกรานแตกหักได้

ซึ่งความรุนแรงของอาการในผู้ที่กระดูกเชิงกรานแตกนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการแตกหัก

เริ่มตั้งแต่

1. มีการปวด เวลานั่งบางท่า

2. มีอาการปวดจนไม่สามารถขยับสะโพกได้

3. มีอาการบาดเจ็บร่วมของระบบทางเดินปัสสาวะหรืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน

4. มีอาการบาดเจ็บของเส้นประสาทบริเวณเอวส่วนล่างและก้นกบ

บางรายอาจรุนแรงไปถึงการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดปริมาณมาก

อาการปวด

ที่ช่วยให้เราทราบว่าตนเองอยู่ในภาวะเสี่ยงของกระดูกเชิงกรานหักหรือไม่

 1. มีอาการปวดบริเวณเชิงกราน ไม่สามารถขยับพลิกตัวหรือขยับสะโพกได้

 2. มีอาการผิดรูปบริเวณกระดูกเชิงกรานหรือสะโพก

 3. มีอาการชาบริเวณรอบทวารหนัก หรือมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ

 4. มีอาการเจ็บบริเวณแก้มก้นตรงจุดที่สัมผัสกับเก้าอี้เวลานั่ง

 5. มีรอยแผล หรือรอยฟกช้ำชัดเจนบริเวณสะโพกและเชิงกรานร่วมกับอาการดังกล่าว

ส่วนการปฏิบัติตัวหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรปฏิบัติตัวดังนี้

 1. ให้ผู้ป่วยควรอยู่ในท่านิ่งที่สุด แม้ในขณะเคลื่อนย้าย

เพื่อป้องกันการเคลื่อนของชิ้นกระดูกที่หักและการบาดเจ็บเพิ่มเติมของอวัยวะข้างเคียง

2. หากมีบาดแผลเปิดให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณปากแผล

3. หากผู้ป่วยพอที่จะขยับตัวได้ ให้ขยับตัวช้าๆ ในท่าทางที่ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด

4. หากไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ไม่ควรนวดหรือดัดร่างกาย

5. ควรประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวด บวม หรือ ฟกช้ำ

 สำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกเชิงกรานหัก

 สามารถทำได้โดยการถ่ายภาพรังสีทั่วไป ร่วมกับการทำ CT scan ซึ่งแนวทางการรักษานั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่แตกหักและความรุนแรง การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่นอนพักจนกว่ากระดูกจะติด ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อใส่โลหะยึดกระดูกสำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คือกระดูกที่แตกหักไม่มีความมั่นคงพอที่จะรับน้ำหนัก หรือ รับการขยับเคลื่อนไหวได้, กระดูกที่แตกหักมีการผิดรูปมาก, มีการแตกหักของกระดูกเข้าไปในส่วนของข้อต่อสะโพก และทำให้เกิดความไม่เรียบของผิวข้อ, มีการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด เช่น มีการบาดเจ็บของลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ หลอดเลือด หรือเส้นประสาท หลังการผ่าตัดใส่โลหะยึดกระดูกโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยสามารถขยับร่างกายได้ตามปกติทันทีหลังผ่าตัด แต่อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องการลงน้ำหนักในขาข้างเดียวกับที่มีการแตกหักของกระดูก นานประมาณ 6-12 สัปดาห์

นพ.ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.yaklai.com/featured/broken-pelvic/