Make Appointment

แห้ง คัน เกา ส่อแววภูมิแพ้ผิวหนัง

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 2022

อะไรเอ่ยมักจะเป็นๆ หายๆ ดูเหมือนไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเป็นเมื่อไหร่บอกได้คำเดียวว่า…คันสุดๆ  “โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง” หรือ (atopic dermatitis) ถือเป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งในกลุ่มของโรคภูมิแพ้ ซึ่งแม้จะดูไม่เป็นอันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้เราไม่น้อย

คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีความไวต่อสารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เมื่อไหร่จะเกิดปฏิกิริยาและเกิดอาการออกมา ถ้าออกทางปอดก็เป็นหืด ทางจมูกก็เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ และถ้ามาออกทางผิวหนัง ก็จะมีอาการแสดงที่ผิวหนัง ซึ่งมักจะมีอาการผื่น คัน ซึ่งอาจจะเป็นมากจนรบกวนการนอนในตอนกลางคืนได้ ผื่นจะเป็นๆ หายๆ และเรื้อรัง มีลักษณะและตำแหน่งที่จำเพาะตามช่วงอายุของผู้ป่วย ในเด็กเล็กมักจะพบเฉพาะแห่งอยู่บริเวณใบหน้า ที่แก้ม ลักษณะเป็นผื่นปื้นๆ เป็นกระจุก ซึ่งจะคันมาก พอโตขึ้นมาหน่อยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ มักจะกระจายไปทั่วตัว แต่จุดที่พบมาก คือ ที่ข้อพับแขน ข้อพับขา ข้อศอกและบริเวณคอ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้  หลักๆ เกิดมาจากความผิดปกติของผิวหนัง (skin barrier defect) ซึ่งเกิดจากการลดลงของสารประสานระหว่างเซลล์ผิว เช่น โปรตีนที่ชื่อ filaggrin ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกทางผิวหนังเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับคนทั่วไป ในคนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีการสูญเสียน้ำมากถึง 4 หลายเท่าตัว ส่งผลให้เกิดอาการ แห้ง-คัน-เกา นอกจากนี้ยังเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม และสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ตัวอย่างเช่น  ไข่ นม และสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น สารจากไรฝุ่น รังแคแมวและขนแมว การติดเชื้อที่ผิวหนังจาก เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ผ้าที่มีขน สารเคมีจากสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า สภาวะอากาศที่แห้ง หรือร้อนและมีเหงื่อมาก

การรักษาใช่เพียงแค่ว่ากินกับทายาแล้วจะหาย หากปราศจากความเข้าใจของการเกิดโรคที่แท้จริง โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กและมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายอย่างควบคู่กันไป เริ่มตั้งแต่การดูแลผิวหนังและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง โดยการแช่น้ำเกลือ หรือการพันด้วยน้ำเกลือ (Wet Wrap)  ใช้ยาทาและยารับประทาน เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังด้วยการทา Moisturizer ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญในการรักษาของ สถาบันโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

                                 chart-allergy

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

โดย : ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87/