นัดพบแพทย์

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

01 Mar 2017 เปิดอ่าน 1692

หลายคนคงเบื่อหน่ายกับการตื่นมาพร้อมกระดาษทิชชู่หนึ่งกำมือ กับอาการไอ จาม น้ำมูกไหล อยู่เป็นประจำ อาการแบบนี้กำลังบ่งชี้ว่าคุณอาจเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “โรคภูมิแพ้อากาศ” นั่นเอง

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาภูมิแพ้ทั้งหมด เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการที่เยื่อบุจมูกมีความไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้น หรือสารก่อภูมิแพ้ อาทิ ควัน ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคแมว สุนัข เกสรละอองหญ้า เชื้อรา เป็นต้น ทำให้เมื่อได้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นดังกล่าว จะทำให้เกิดอาการ คัน ไอ จาม หรือน้ำมูกไหล

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่ค่อนข้างมีผลต่อคุณภาพชีวิต แถมยังสร้างความรำคาญให้กับตัวผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อย่างมาก เนื่องจากมีน้ำมูกไหลหรือจามอยู่ตลอดเวลา และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดโรคอื่นหรือภาวะแทรกซ้อนร่วมได้ เช่น เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ นอนกรน และมีต่อมอดีนอยด์โตอุดกั้นทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ริดสีดวงจมูก เป็นต้น

แนวทางในการรักษา ต้องเริ่มจากการตรวจหาสารที่ทำให้เราแพ้ก่อน โดยการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมี 2 วิธีคือ

  1. การทดสอบผิวหนัง (Skin prick test) โดยการหยดน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้และน้ำยาเปรียบเทียบผลบวกและผลลบ บริเวณผิวหนังที่ท้องแขน หรือแผ่นหลัง แล้วสะกิดด้วยอุปกรณ์โดยเฉพาะ อ่านผลการทดสอบที่ 15 นาที วิธีนี้ผู้ป่วยควรงดยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนมาทดสอบ
  2. การตรวจสารก่อภูมิที่จำเพาะในเลือด (Specific lgE) คือ ตรวจหา lgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดในเลือดผู้ป่วย ข้อดีของการตรวจชนิดนี้คือ ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีนก่อนมาตรวจเลือด

การรักษา

  1. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการรักษาที่ส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยอย่างมาก เพราะเมื่อผู้ป่วยสังเกตตัวเองว่ามีอาการแพ้จากอะไรแล้ว พยายามลดปริมาณหรือไม่ไปอยู่ในสถานที่ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ก็จะทำให้โรคจมูกอักเสบลดลงได้ แต่ในความเป็นจริงอาจทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีการรักษาโดยการรับประทานยาควบคู่กันไป
  2. การใช้ยาต้านฮิสตามีน ยาต้าน leukotriene ชนิดรับประทาน การพ่นจมูกด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์
  3. การให้วัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งมี 2 วิธี คือ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และการอมวัคซีนใต้ลิ้น
  4. การรักษาเสริมอื่นๆ เช่น การล้างจมูก

เนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่เป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรังมีผลต่อคุณภาพชีวิต ด้านการ

เรียน การทำงาน สังคม การรักษาควรจะได้รับการดูแลเป็นระยะ เพื่อติดตามผลแทรกซ้อน และการใช้ยาอย่างถูกต้อง ส่วนการใช้วัคซีนภูมิแพ้นั้น สามารถเปลี่ยนการดำเนินโรคได้ ลดการใช้ยา หรือไม่มีอาการของโรค แต่ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยในแต่ละรายและดุลยพินิจของแพทย์ การรักษานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ ที่สำคัญควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะช่วยต้านโรคได้อีกทางหนึ่งนะครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

โดย : ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89/