นัดพบแพทย์

โรคตับ ป้องกันดี รักษาได้

28 Sep 2016 เปิดอ่าน 1887

ตับเปรียบได้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งผลิต แหล่งสะสมพลังงาน และโรงงานกำจัดของเสีย อาหารทุกชนิดที่ผ่านการย่อยและดูดซึมมาจากกระเพาะอาหารและลำไส้จะถูกส่งมาที่ตับเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ของร่างกายนอกจากนี้ตับยังเป็นโกดังเก็บสะสมสารอาหารต่างๆ ไว้ใช้ในยามจำเป็นอีกด้วย ทั้งยังรับของเสียจากที่ต่างๆของร่างกายที่ผ่านมากับเลือดเข้าสู่เซลล์ตับเพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นโมเลกุลหรือสารที่เหมาะสมและกำจัดออกทางท่อน้ำดีดังนั้นถ้าตับถูกทำลายเสียไป 60 – 70% จะเริ่มเกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ตาเหลือง ตัวเหลือง บวม มีน้ำในช่องท้อง ซึม สับสน อาเจียนเป็นเลือด ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของตับHealthToday ฉบับนี้จึงได้เรียนเชิญ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์อายุรแพทย์โรคตับและการเปลี่ยนตับ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาบอกเล่าเรื่องราวความรู้และอัพเดตสถานการณ์โรคตับในปัจจุบันให้เราได้ทราบกัน

โรคของตับ
โรคเกี่ยวกับตับมีมากมาย ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ก็เช่น มะเร็งตับ ก้อนในตับ ถุงน้ำในตับ และอีกหนึ่งโรคที่เป็นเหมือนสนิมคอยกัดกร่อนตับคนไทยมาช้านานคือ “โรคตับอักเสบ” และเนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเฉพาะบริเวณเปลือกหุ้มตับเท่านั้น ร่างกายจึงไม่รับรู้ถึงอาการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในตับเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจะเกิดพังผืดในเนื้อตับ ถ้าเป็นซ้ำๆอยู่อย่างนั้นนานวันเข้าก็จะตามมาด้วยภาวะที่เรียกว่า “ตับแข็ง” โดยตับจะเริ่มโตขึ้นและค่อยๆ หดตัวลงเป็นตะปุ่มตะป่ำขรุขระหากปล่อยทิ้งไว้จะเข้าสู่ตับแข็งระยะท้าย ตับจะเริ่มสูญเสียการทำงานและแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น หลังเท้าบวม(ถ้าเอานิ้วไปกดบริเวณนั้นแล้วยกนิ้วขึ้นก็จะยังปรากฏเป็นหลุมตามรอยนิ้วที่กดลงไป) ท้องบวม มีน้ำในช่องท้อง หลายคนมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลผ่านตับได้จึงไหลย้อนกลับไปในหลอดอาหาร เกิดหลอดเลือดโป่งพอง เรียกว่า “หลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร”ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้หลอดเลือดจะแตกออก เลือดเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร เมื่อมีปริมาณมากขึ้นจะอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายออกมาเป็นเลือดสีดำถ้าเป็นรุนแรงมากจะเกิดอาการทางสมองเนื่องจากมีของเสียไปคั่งอยู่ ผู้ป่วยอาจจะเริ่มนอนไม่หลับ สับสน หลงลืม อารมณ์ดีผิดปกติ อารมณ์ร้ายผิดปกติลืมญาติพี่น้องและคนในครอบครัว ซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 – 30 ปีตั้งแต่เริ่มตับอักเสบ

ส่วนการเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับนั้นต้องขอบอกว่า “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน” หมายความว่าผู้ป่วยมักจะมาด้วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง จากนั้นจึงเกิดพังผืดและตับแข็งตามลำดับ บริเวณพังผืดจะเป็นจุดกำเนิดของก้อนมะเร็ง โดยก้อนมะเร็งจะค่อยๆ โตขึ้นจากที่มองไม่เห็นเป็นขนาด 1 เซนติเมตรจนถึงประมาณ 8 - 10เซนติเมตร ซึ่งจนถึงระยะนี้ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งมะเร็งโตเต็มตับจึงเริ่มมีอาการแสดงออกมาให้เห็น เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด เลือดออกในช่องท้องจึงได้รู้ว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ดังนั้นเรามักจะได้ยินว่าคนที่เป็นมะเร็งตับจะเสียชีวิตภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะกว่าจะรู้ตัวมะเร็งก็เต็มตับแล้วแต่ถ้าไปตรวจและพบว่ามีก้อนมะเร็งที่ขนาดยังไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถรักษาให้หายขาดได้

ตับอักเสบ
เราสามารถแบ่งตับอักเสบได้เป็น 2 ระยะ คือ ตับอักเสบเฉียบพลัน หมายถึง ตับอักเสบที่เกิดขึ้นและหายภายใน 6 เดือน และ ตับอักเสบเรื้อรัง หมายถึง ตับอักเสบที่เป็นนานกว่า 6 เดือนสาเหตุของการเกิดตับอักเสบทั้ง 2 ระยะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ในประเทศไทยสาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆการใช้ยาและสารที่เป็นพิษต่อตับ และการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก

• ไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ที่น่ากังวลคือ ไวรัสตับอักเสบอีเนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักทั้งในหมู่ประชาชนและแพทย์บางส่วนทั้งยังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบอีถูกมองว่าเป็นไวรัสตัวใหม่แต่ในความเป็นจริงไวรัสชนิดนี้มีในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางอาหาร เดิมทีพบได้ในแถบอินเดีย จีนบังคลาเทศ ปากีสถาน ฯลฯ ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสตับอักเสบอีในประเทศไทยแล้ว แต่เป็นเชื้อคนละสายพันธุ์กับต่างประเทศ โดยจะพบเชื้อในสัตว์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น หมู หมูป่ากวาง และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด การเกิดโรคในคนนั้นผู้ป่วยหลายรายมีประวัติสัมผัสหรือรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเป็นเหตุของการติดเชื้อได้จึงควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาดถูกสุขอนามัยและใช้ช้อนกลางทุกครั้งที่ต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นการติดเชื้อจะหายขาดได้ในผู้ป่วยทั่วไปภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยเอดส์อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจนกระทั่งตับแข็งและเสียชีวิตได้

• การใช้ยา เป็นสาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลันที่พบรองลงมา ยาในที่นี้หมายถึงยาที่แพทย์ใช้ในการรักษา ยาต้ม ยาหม้อ สมุนไพร อาหารเสริม และ

ยาบำรุงทุกชนิด โดยเฉพาะวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรบำรุงต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดตับอักเสบได้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่รับประทานของพวกนี้เข้าไปจะเกิดปัญหา แต่ในบางคนก็อาจจะเกิดปัญหาต่อตับได้ ต้องระวัง

• การดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่มปริมาณมาก สามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันได้ แต่คนที่ดื่มปริมาณปานกลางถึงมาก ดื่มเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็งต่อไปอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบ เช่น โรคภูมิต้านทานต่อตับ โรคธาตุเหล็กและธาตุทองแดงสะสมในตับ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามถ้าเวลาผ่านไป 6 เดือนแล้วตับยังคงอักเสบอยู่ก็จะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง สาเหตุของโรคตับอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยในบ้านเรามักมาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีการดื่มแอลกอฮอล์ และไขมันแทรกตับ

• ไขมันแทรกตับ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรัง ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะดำเนินโรคกลายไปสู่ภาวะตับแข็ง และเกิดเป็นมะเร็งตับในภายหลังได้ผู้ที่อ้วน น้ำหนักเกิน เป็นเบาหวาน ไขมันจะไปแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ในร่างกายรวมทั้งในเนื้อตับคนส่วนใหญ่มักคิดว่าไขมันแทรกตับเกิดจากการที่เรากินไขมันมากจึงลดการบริโภคไขมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะการลดไขมันเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลดคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล สุดท้ายก็จะตามมาด้วยโรคอ้วน น้ำหนักเกิน เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และไขมันแทรกตับอยู่ดี

ในประเทศไทยมีประชากรวัยผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 40 ล้านคน คาดว่ามีประมาณ 5 ล้านคนที่มีโรคตับซ่อนอยู่ หรือคิดเป็น 1 ใน 10 เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของเราคือ การไปตรวจสุขภาพตับอย่ารอให้โรคตับถามหา ควรรีบไปตรวจเช็คโดยแจ้งกับแพทย์ว่ามาตรวจตับ หากพบว่าเป็นตับอักเสบหรือมีโรคตับอื่นๆ ไม่ควรกังวลจนเกินไปเพราะปัจจุบันโรคตับสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซีปัจจุบันคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองรวมทั้งสิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม สามารถรับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยาที่ใช้มีอัตราการรักษาหายขาดค่อนข้างสูง แม้จะมีภาวะแทรกซ้อนอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เมื่อ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะได้ยินข่าวยาเม็ดละ 30,000 บาทที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี โดยต้องกินยานานประมาณ 3 เดือน อัตราการรักษาหายขาดอยู่ที่ 90 -100% ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่ายาชนิดดังกล่าวจะได้บรรจุเข้าในรายชื่อบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือในอนาคตไวรัสตับอักเสบซีจะหมดไปอย่างแน่นอน

สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ ธรรมชาติได้สร้างให้ตับของเรามีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาบำรุงตับ ยุคนี้สมัยนี้ผู้คนนิยมสรรหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงร่างกายกันมาก ซึ่งสุดท้ายอาจต้องมาจบลงที่โรงพยาบาลเนื่องจากเกิดภาวะตับอักเสบ ตับวาย และถ้ารุนแรงมากก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิต

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease_n/disease173_5.html